post

                คนไทยแทบจะทุกคนและเกือบจะทุกชนชั้นก็ว่าได้ น้อยนักที่จะพูดคำว่า ไม่รู้จักว่าว เพราะว่าวถือกำเนิดและเติบโตมาพร้อม ๆ กันกับวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ เพียงแต่ด้วยยุค ด้วยสมัยที่ทำให้ว่าวมีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นทางด้านรูปแบบ วัสดุในการนำมาผสมผสาน ลวดลาย สีสัน ด้วยการผิดแผกแตกต่างกันไปนานา นับประการนั้น ก็เป็นไปตามความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของผู้ประดิษฐ์ ผู้จัดทำ บ้างก็แล้วแต่ตามความนิยม ความชื่นชอบ หรือ เป็นไปตามช่วงกาลเวลาต่าง ๆ แต่เมื่อได้ลองพิจารณาโดยภาพรวมแล้วนั้น ว่าวก็ยังถือได้ว่า มีลักษณะรูปร่าง รูปแบบ วิธีการต่าง ๆ ที่ก่อเกิดเป็นว่าวมาได้นั้น มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นว่าวจากจังหวัดใด ภูมิภาคใด หรือแม้แต่ว่าวต่างแดนจากทั่วทุกประเทศก็ตาม ซึ่งก็จะเป็นการบ่งบอกถึงวัฒนธรรมของแหล่งชุมชนนั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสมลงตัว ตามภูมิปัญญาอันถือกำเนิดจากท้องถิ่น ที่อยู่อาศัยโดยรอบตัว นำมาพัฒนา ผสมผสานปรับแต่ง ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ เป็นการต่อยอดให้กับท้องถิ่น  


ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับว่าว

 

                ในอดีต เราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เส้นทางต่าง ๆ ยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง รวมถึงอาวุธยุทธ์โทปกรณ์ ก็ไม่ได้อำนวยความสะดวกสบายได้เหมือนในปัจจุบัน การทำศึกสงครามเพื่อปกป้องอารยประเทศจึงต้องคิดค้นหาวิธีการ ต่าง ๆ กำจัดข้าศึก ว่าวจึงได้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือ และอุบาย เพื่อจัดการข้าศึกศัตรูฝ่ายตรงข้ามให้พ่ายแพ้ กล่าวโดย ได้นำหม้อดิน มาบรรจุดินดำ แล้วผูกกับสายป่านของว่าวไปถึงหม้อดินดำที่ใช้เป็นระเบิด ให้ตกไปไหม้บ้านเมืองของฝ่ายศัตรูนั่นเอง ซึ่งจากประวัติศาสตร์ศึกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ว่าวจุฬาได้ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรก

ว่าวจากการใช้วัสดุธรรมชาติพื้นบ้าน

 

                ส่วนใหญ่ภูมิปัญญาของผู้คนเกิดจากการนำสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว นำมาจัดสรร  ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะของใช้ ของเล่น หรือแม้แต่ของกิน  ซึ่งว่าวก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านได้นำวัสดุท้องถิ่น อย่างเช่น การใช้ใบตองตึง ในการทำตัวว่าว โดยใบตองตึงเป็นใบไม้ที่พบมากทางภาคอีสาน ใช้ห่อสิ่งของต่าง ๆ แทนพวกถุงกระดาษ ถุงพลาสติกในปัจจุบัน เพราะมีลักษณะเป็นใบใหญ่ ๆ นำมาตากแดดให้แห้ง ติดเชือกต่อหาง ให้เด็ก ๆ ได้เล่นกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน เรียกกันว่า ว่าวใบไม้ เป็นการทำว่าวแบบลักษณะง่าย ๆ หรือการใช้วัสดุพื้นบ้านที่หาได้ง่าย อย่างไม้ไผ่จากต้นไผ่ที่มีขึ้นเองตามป่าเขา นำมาเหลาทำโครงของตัวว่าว ได้อย่างดีเยี่ยม และลงตัวอย่างมาก มาจนถึงปัจจุบัน เพราะไม้ไผ่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถเหลาได้ทุกขนาดตามความต้องการนั่นเอง

 

นอกจากวัสดุที่นำมาประกอบทำเป็นว่าวแล้ว องค์ประกอบอื่น ๆ ในการที่จะทำให้ว่าวมีประสิทธิภาพ คือ แรงลม และ สายป่านที่เหนียวพอที่จะต้านแรงลม รวมถึงทักษะ ฝีมือในการกำหนดทิศทาง และให้ว่าวสามารถอยู่ในอากาศได้นานตามต้องการอีกด้วย  ซึ่งถือเป็นความท้าทาย และถือเป็นการคอยพัฒนาภูมิปัญญาที่มีอยู่โดยรอบให้มีประสิทธิผลมากยิ่ง ๆ ขึ้นเราควรช่วยกันรักษาดูแลมรดกทางภูมิปัญญานี้ไว้ให้คงอยู่ไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน ให้ยาวนานที่สุดด้วยความภาคภูมิใจ