post

หลายคนที่เคยเล่นว่าวคงจะรู้ดีว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่ให้ความบันเทิงเริงรมย์ในวันที่ฟ้าแจ่มใส ลมพัดเย็นสบาย โดยเฉพาะในฤดูร้อนและฤดูหนาว แต่คงมีน้อยคงนักที่จะหยิบมันมาเล่นในวันที่ฝนฟ้าคะนอง เพราะนอกจากว่าวจะเปียกจนลอยไม่ขึ้นแล้ว คนเล่นก็อาจถูกฟ้าผ่าจนไหม้เป็นตอตะโกไปเสียก่อน แต่รู้หรือไม่ว่าหนึ่งในการค้นพบครั้งสำคัญของมนุษยชาติเกิดขึ้นเพราะการเล่นว่าวกลางพายุฝน

ว่าวกับการทดลองกลางพายุฝน

                นับตั้งแต่โบราณมนุษย์รู้จักไฟฟ้ามาช้านานจากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะจากการถูกปลาไหลไฟฟ้าช็อต การที่ก้อนอัมพันสามารถดูดวัตถุเล็ก ๆ ได้หลังจากถูกับขนสัตว์ แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะนำสิ่งนี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร จะกักเก็บมันไว้ใช้ได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งไฟฟ้าและสายฟ้าที่เกิดขึ้นยามฝนตกเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่

                ในปีค.ศ. 1752 เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกาได้ทำการทดลองกักเก็บไฟฟ้า โดยการผูกกุญแจโลหะเข้ากับเชือกว่าวที่ทำจากใยป่านที่เปียกชุ่มกลางสายฝน ในขณะที่แฟรงคลินคอยถือเชือกที่ทำจากใยไหมอยู่ในเพิง แล้วปล่อยให้ว่าวลอยสูงขึ้นไปบนเมฆขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง

                เมื่อกุญแจโลหะซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้าอย่างดีลอยไฟใกล้กับก้อนเมฆซึ่งเต็มไปด้วยประจุไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าก็แล่นลงมาตามเชือกของว่าว จากนั้นก็ถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์กักเก็บไฟฟ้าที่เรียกว่าขวดแก้วไลเดน (Leyden jar)

                การทดลองเล่นว่าวกลางสายฝนนี้เองทำให้แฟรงคลินพิสูจน์ได้ว่าฟ้าผ่าและปรากฏการณ์ทางไฟฟ้าอื่น ๆ เป็นสิ่งเดียวกัน นอกจากนั้นยังนำไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า

ว่าวกับอันตรายจากฟ้าผ่า

                แม้ว่าเบนจามิน แฟรงคลินจะรอดจากการเล่นว่าวกลางสายฝนมาได้ เพราะพวกเขาใช้เชือกสองเส้น แต่ไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเท่าไหร่หากใครจะนึกสนุกอยากลองเล่นว่าวกลางสายฝนเหมือนกับเขาบ้าง

                ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเมื่อละอองน้ำในก้อนเมฆชนกันไปมา แล้วปลดปล่อยประจุลบหรืออิเล็กตรอนออกมา เมื่อประจุดังกล่าวสะสมเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนมาก ซึ่งมักเกิดขึ้นเวลามีพายุฝนฟ้าคะนอง ประจุลบเหล่านี้ก็มักวิ่งเข้าหาประจุบวก ซึ่งมีอยู่มหาศาลบนพื้นดิน เกิดเป็นปรากฏการณ์ฟ้าผ่า

แต่ประจุลบเหล่านี้ก็ชอบที่จะวิ่งเข้าหาประจุบวกที่อยู่ใกล้มากกว่าประจุบวกที่อยู่ไกล ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดฟ้าผ่าใส่วัตถุที่อยู่สูงหรือมียอดแหลม เช่น ต้นไม้ใหญ่ หรือยอดตึกสูงจึงมีมากกว่า ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงว่าวซึ่งลอยสูงเสียดฟ้าว่ามีโอกาสถูกฟ้าผ่าสูงขนาดไหน

                จากสถิติในประเทศไทยมีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่าตั้งแต่ปีพ.ศ.2554-2558 สูงถึง 154 คน เสียชีวิตสูงถึง 38 คน แม้จะดูเหมือนเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่ก็บอกได้ว่าอันตรายจากฟ้าผ่ามีมากแค่ไหน ดังนั้นสำหรับคนที่ชื่นชอบการเล่นว่าวแล้ว ควรจะระมัดระวังให้ดี อย่าได้ริลองเล่นว่าวเวลาฝนตกเป็นอันขาดเชียว