post

เรื่องราวของว่าวในสายลมของสงคราม

นอกจากว่าวจะเป็นอุปกรณ์การละเล่นที่สร้างความสนุกสนาน เหมาะกับทุกเพศทุกวัย และมีประวัติศาสตร์อยู่ทั่วโลกแล้ว ยังมีบันทึกที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนในอดีตยังใช้ว่าวในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปมากมาย หนึ่งในวัตถุประสงค์ที่พบเจอได้บ่อยที่สุดก็คือการใช้ว่าวเพื่อประโยชน์ทางการทหารในช่วงทำสงครามนั่นเอง

การใช้ว่าวเพื่อทำสงครามในทวีปเอเชีย

ประเทศจีนในช่วง 202 ปีก่อนคริสตกาล B. Laufer ได้บันทึกลงไปในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า The Pre-History of Aviation ซึ่งเป็นหนังสือว่าด้วยการบินในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงราชวงศ์ฮั่น มีกองทหารของนายพลท่านหนึ่งได้ถูกต้อนจนจนมุม ทำได้เขาลองติดเชือก Aeolian ไว้กับว่าว ซึ่งเชือกนี้จะทำให้เกิดเสียงประหลาดขึ้นยามว่าวลอยขึ้นไปบนฟ้า ราวกับเป็นเสียงเตือนจากเทพเจ้า ทำให้ข้าศึกเกิดความหวาดกลัวและหนีไป

ประเทศอินเดียในช่วงปี ค.ศ.1659 จากการพรรณาของ Bill Thomas ในหนังสือที่มีชื่อว่า The Complete World Of Kites ว่าวมีบทบาทสำคัญในสงครามดินแดนระหว่างฮินดูและมุสลิม กษัตริย์ที่มีพระนามว่า Shivaji ใช้ว่าวเพื่อต่อแถวข้ามเหวใกล้ ๆ กับ Poona และจากนั้นภายใต้ความมืดยามค่ำคืน สายป่านได้ถูกเปลี่ยนเป็นเชือกเพื่อให้คนของกษัตริย์ Shivaji สามารถปีนขึ้นไปบนป้อมปราการของศัตรูและจัดการกับพวกทหารที่เฝ้ายามได้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

กองทัพของประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลีและรัสเซีย ต่างก็ใช้ว่าวเพื่อสอดแนมศัตรูฝ่ายตรงข้ามและทำการส่งสัญญาณให้พวกเดียวกันก่อนยุคที่เทคโนโลยีเครื่องบินจะมาทำให้ว่าวนั้นล้าสมัยไป กองทัพเรือเยอรมันก็ยังคงใช้ว่าวแบบกล่องในการยกทหารขึ้นไปเพื่อเพิ่มความสามารถในการมองเห็นระหว่างที่เดินเรือดำน้ำเหนือน้ำ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หน่วยงานด้านกองทัพเรือของรัฐบาลอังกฤษได้ริเริ่มการใช้ว่าวในการป้องกันแนวฝั่งจากการโจมตีฝั่งน่านน้ำ โดยว่าวที่ใช้จะเป็นว่าวกล่องคู่แบบ Hargrave ที่มีระเบิดผูกเอาไว้สำหรับช่วยขัดขวางการโจมตีของศัตรูทางอากาศ

แม้กระทั่งทางฝั่งอเมริกาก็มีการเปิดโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรสร้างแนวป้องกันศัตรูจากบอลลูนและว่าวในเมืองนิวยอร์ก หนึ่งในรูปแบบของว่าวที่มีชื่อเสียงในการทำลายลายศัตรูก็คือว่าวแบบ Saul’s barrage kites โดยว่าวนี้จะผูกกับสายป่านว่าวที่แข็งแรงมากและคมกริบ และสามารถจัดการกับเครื่องบินทิ้งระเบิดได้อย่างดีเยี่ยม

ในส่วนของประเทศเยอรมัน Dr. Henrich Focke ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเครื่องบิน ได้คิดค้นเครื่องบิน Focke-Achegelis F.A. 330 ซึ่งมีลักษณะเป็นว่าวที่มีปีกหมุนได้ หรือ ว่าว gyroplane มีความสามารถในการหลบหลีกสูงและลอยสูงขึ้นไปได้ด้วยการแรงลากของเรือดำน้ำ ว่าวนี้มีใบมีดหมุนได้ที่ช่วยในการสังเกตการณ์สูงขึ้นไปได้ถึง 50 ฟุตเหนือน้ำทะเล

ถึงแม้ว่าว่าวจะเคยมีบทบาทสำคัญในการทำสงครามทั่วโลก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าว่าวก็ยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างบันเทิงให้เราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันเมื่อสงครามสงบลง ว่าวกลับเข้ามาช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก ๆ และเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ในทั้งครอบครัวและระหว่างผองเพื่อนให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย