post

มารู้จัก ว่าวจีน ที่ได้ชื่อว่ามีประวัติอันยาวนาน


ชาวจีนคิดค้นและประดิษฐ์ว่าวขึ้นมาเป็นเวลานานมากแล้ว จากข้อมูลได้ปรากฏว่าค้นพบเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้ว บ้างก็ว่าถูกคิดค้นจากนักปราชญ์ บ้างก็ว่าจากช่างไม้ฝีมือดีที่ทำนกไม้ด้วยไม้ และทำให้สามารถบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ตามทิศทางลมได้นานถึง 3 วัน ครั้นต่อมาในสมัยหลี่เย่ ได้มีผู้นำกระดาษมาทำเป็นว่าว  และต่อมามีผู้คิดนำสายดนตรีมาติดที่บริเวณปลายด้านบนของว่าวเมื่อเวลาที่มันลอยอยู่กลางอากาศสายดนตรีที่ผูกไว้ประทะกับลมกลายเป็นเสียงดนตรีคล้ายกู่เจิง  จากนั้นมา ชาวจีนจึงเรียกว่าวว่า เฟิงเจิง ซึ่งแปลได้ว่า พิณลม นั่นเอง

ยุคสมัยแรกของว่าว

แต่ก่อนว่าวของชาวจีนไม่ได้ใช้เพื่อความเพลินเพลิน หากแต่ใช้เพื่อการสอดแนมทางการทหาร เพื่อค้นหาที่มั่นของศัตรู  และยังได้ทำว่าวขนาดใหญ่พอที่จะรับน้ำหนักคน ให้คนขึ้นไปพร้อมกับว่าวเพื่อสอดแนมศัตรู และทำลายขวัญและกำลังใจ เมื่อยุคของสงครามสงบลงในสมัยราชวงศ์ถัง เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีแต่ความรื่นเริง ทำให้ว่าวเริ่มกลายมาเป็นการละเล่น เพื่อความสนุกสนานมากขึ้น

ยุคสมัยกลางของว่าว

รูปแบบว่าวเริ่มเข้ามามีบทบาท ได้มีการคิดประดิษฐ์ว่าวรูปร่างต่าง ๆ เช่น นกนางแอ่น ปลา แมลงปอ มังกร และ ค้างคาวเพราะความหมายในคำศัพท์จีน คำอ่านของคำว่าค้างคาวมีเสียงพ้องกับคำที่มีความหมายว่า มีความสุขถ้วนหน้า (เปี้ยนฝู)  หรือ ร่ำรวยถ้วนหน้า (เปิ้ยนฟู่)  จึงเชื่อว่าจะทำให้นำความสุขความมั่งคั่งมาสู่เจ้าของว่าว นอกจากนี้ก็ยังมีรูปอื่น ๆ  อีกมากมาย

ยุคของว่าวในปัจจุบัน

ปัจจุบัน เมืองปักกิ่ง เทียนจิน เหวยฟาง เมืองหนันทง และเมืองหยางเจียง ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นเมืองที่ผลิตว่าวอันมีชื่อเสียงของจีน โดยว่าวแต่ละท้องถิ่นก็จะมีเอกลักษณ์มีความนิยมชมชอบที่แตกต่างกัน อย่างว่าวนกนางแอ่น เป็นที่นิยมของผู้คนชาวปักกิ่ง มากกว่าแบบอื่น ส่วนถ้าพูดถึงว่าวของเมืองเหวยฟางซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งว่าวโลก ซึ่งเลื่องชื่อในด้านความสวยงามของว่าว และวัสดุชั้นเยี่ยม จนได้รับรางวัลชนะเลิศจากเทศกาลว่าวนานาชาติที่จัดขึ้นในอิตาลีมาแล้ว ทำให้เมืองเหวยฟางเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลว่าวโลกขึ้นทุกปี ดึงดูดผู้ที่ชื่นชอบศิลปะลอยฟ้านี้และพลาดไม่ได้ที่จะมาเที่ยวชมความสวยงามของพวกมัน ซึ่งมาจากนานาประเทศทั่วโลก ส่วนว่าวของเมืองปักกิ่งซึ่งมีความเป็นมากว่า 300 ปี และว่าวซาเยี่ยน หรือว่าวนกนางแอ่น เป็นว่าวที่มีชื่อเสียง ด้วยตัวว่าวทำเป็นรูปนกนางแอ่นกางปีกสองข้าง มีหางยาวและแหลม แลดูเหมือนตัวหนังสือจีนที่เขียนว่า ต้า ที่แปลว่าใหญ่ ปีกสองข้างเขียนรูปคางค้าวด้วยมีความหมายที่ดีทำให้มีโชคดี ผาสุก  นอกจากนี้ยังมีว่าวที่เป็นภาพนกนางแอ่นคู่ ตัวหนึ่งเป็นสีฟ้า อีกตัวหนึ่งเป็นสีแดง คู่กัน เหมือนสามีภรรยาที่มีความรักและจะอยู่ด้วยกันตลอดไป  พร้อมประดับด้วยลวดลายรูปผีเสื้อที่มีความหมายถึงโชคลาภ สิริมงคลอีกด้วย

                ว่าวจีนได้มีการพัฒนามาไกลอย่างลงตัวถือเป็นต้นแบบและทำให้เป็นที่นิยมไปหลายต่อหลายประเทศ ทั้งทางแถบเอเชียและยุโรป ด้วยเพราะมีทั้งศิลปะจากภาพบนกระดาษว่าว ดนตรีที่ใช้นกหวีดที่ทำด้วยผลน้ำเต้ามาติดที่ว่าวจะเปล่งเสียงที่ทรงพลังไพเราะไปได้ไกลหลายกิโลเมตรอีกด้วย นอกจากนี้ชาวจีนยังมีความเชื่อว่า การชักว่าวเป็นการปล่อยความชั่วร้าย ความไม่ดี เอาโรคภัยต่าง ๆ ไปให้พ้น ให้ห่างไกลพวกเค้าหรือคนที่รักได้