post

เล่นว่าวแล้วฉลาด รวมไอเดียใช้ว่าวเป็นสื่อการสอน

แนวคิดเรื่องการเรียนให้สนุกไม่ใช่แนวคิดใหม่อะไร แต่เอาเข้าจริงการจะเชื่อมโยงวิชาต่าง ๆ กับกิจกรรมที่สนุกก็เป็นอะไรที่ท้าทายไม่น้อย ว่าวเองก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สนุกสนานเพลิดเพลินและเหมาะกับทุกเพศทุกวัย ดังนั้นครั้งนี้เราจึงจะขอเสนอไอเดียการนำว่าวไปใช้ในการเรียนการสอน มาดูกันว่าการเล่นว่าวสามารถเชื่อมโยงกับวิชาต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง

วิทยาศาสตร์

                การที่ว่าวจะสามารถบินอยู่บนอากาศได้ ต้องอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์มากมาย เช่น เรื่องของการเคลื่อนที่ในวิชาฟิสิกส์ เรื่องของวัสดุในวิชาเคมี เรื่องของลมฟ้าอากาศในวิชาอุตุนิยมวิทยา ดังนั้นอาจเริ่มโดยการตั้งคำถามกับนักเรียน เช่น ทำไมว่าวถึงลอยอยู่ในอากาศได้ วัสดุที่ใช้ทำว่าวผลการบินของว่าวอย่างไร การหาทิศทางและความเร็วลมทำได้อย่างไร

 นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ เช่น การทดลองของเบญจามิน แฟรงคลินที่ใช้ว่าวเพื่อทดลองว่าฟ้าผ่าเป็นไฟฟ้าหรือไม่ หรือการคิดค้นวิธีถ่ายภาพทางอากาศด้วยการติดกล้องลอยขึ้นไปกับว่าว

สังคมศึกษา

                ว่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพราะมันมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานและเกี่ยวข้องกับหลากหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นจึงอาจใช้เชื่อมโยงไปสู่หลากหลายวิชาทางสังคมได้

โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ เพราะว่าวมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ตัวอย่างของไทยก็เช่น เหตุการณ์ที่พระเพทราชาใช้ระเบิดติดกับว่าวแล้วชักข้ามกำแพงข้าศึกเพื่อโจมตี ส่วนในต่างประเทศก็มีหลายประเทศที่ว่าวมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น ในประเทศจีนที่เริ่มแรกมักใช้ว่าวขนาดใหญ่เพื่อนำทหารขึ้นไปสอดแนวข้าศึก หรือญี่ปุ่นที่ใช้ว่าวเพื่อบูชาเทพเจ้า

คณิตศาสตร์

                ปัจจุบันว่าวมีรูปร่างหน้าตาหลากหลาย แต่ก็มีว่าวจำนวนมากที่มีรูปร่างทางเลขาคณิตง่าย ๆ เช่น สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมรูปว่าว สามเหลี่ยม ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นสื่อการสอนในวิชาคณิตศาสตร์ได้ เช่น การหาพื้นที่ของรูปร่างต่าง ๆ ได้

พลศึกษา

                แทนที่จะเล่นกีฬาทั่ว ๆ ไปอย่างฟุตบอล บาสเกตบอล หรือวอลเวย์บอลทุกคาบ คุณครูอาจแบ่งสักสองสามคาบให้นักเรียนได้เล่นว่าวดูบ้าง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการเล่นแบบทั่วไปหรือแข่งขันกัน เช่น ว่าวของใครอยู่บนฟ้าได้นานกว่า หรือกระทั่งจัดแข่งขันดวลว่าวแบบไทย ๆ ที่ทั้งสองฝั่งต้องดึงว่าวของฝ่ายตรงข้ามให้มาตกในเขตของตัวเองให้ได้

ศิลปะและงานประดิษฐ์

                คงไม่มีวิชาไหนที่เหมาะกับการนำว่าวมาใช้เป็นสื่อการสอนมากกว่าวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและงานประดิษฐ์อีกแล้ว เพราะว่าวในทุก ๆ วัฒนธรรมล้วนผ่านการออกแบบและใช้ทักษะการประดิดประดอยอย่างพิถีพิถัน

                คุณครูอาจฝึกความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนโดยให้ออกแบบลายหรือรูปร่างของว่าว หรือกระทั่งให้ศึกษาแนวคิดการออกแบบว่าวในวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งก็สามารถนำมาปรับใช้กับว่าวของตัวเองได้

                ลองนำไอเดียเหล่านี้ไปใช้กันนะ เพราะนอกจากเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ไปพร้อมกับการเล่นว่าวอย่างสนุกสนานแล้ว ยังทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยได้เล่นว่าวได้หันมาสนใจเล่นว่าวกันมากขึ้นอีกด้วย