post

ว่าวหลายหลายแบบ สร้างความตื่นตา ตื่นใจ ไปกับไอเดียสุดบรรเจิด


หลายคนคงรู้กันดีว่า ปัจจุบันรูปร่างของว่าวได้ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิม จะสังเกตุได้จากเทศกาลว่าวต่าง ๆ ที่จะมีบรรดาว่าวแปลก ๆ ที่มีไอเดียดีไซน์แปลกแหวกแนว เป็นสีสันให้เกือบทุกครั้งที่มีเทศกาลงานว่าว โดยเฉพาะกับ ว่าว Inflatable ที่เป็นว่าวพองลม มองเห็นได้เป็นรูปแบบ 3 มิติ เป็นว่าวที่มีเสน่ห์ สร้างสีสันในเรื่องของรูปร่างที่ถูกจัดทำขึ้นตามไอเดียของผู้ที่สร้างเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ และในหลาย ๆ ประเทศก็จะนิยมจัดเทศกาลว่าวและกำหนดการแข่งขันว่าวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดกัน

คุณลักษณะของว่าวนี้จะทำเป็นรูปร่างมองเห็นโดยรอบ ใช้การเก็บอากาศเข้าไป เพื่อให้พองตัวเป็นรูปร่างตามที่ได้สร้างไว้ เช่น ว่าวรูปปลาหมึก ว่าวรูปกบ ว่าวรูปปลาวาฬ และอื่น ๆ อีกมากมาย หลายประเทศน้ำสัญญาลักษณะของประเทศมาทำเป็นรูปร่างของว่าว บางคนทำเรียนแบบสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ของใช้ ของกิน

การพองตัวของว่าวเกิดจากลมที่พัดเข้าไปแล้วถูกกักเก็บเป็นแรงดันทำให้ว่าวลอยได้ เด็ก ๆ มักชอบเพราะมีรูปร่างน่ารัก ทำให้มองเห็นคล้ายตุ๊กตาลมลอยได้ ด้วยความที่ว่าวมีขนาดที่ใหญ่ ทำให้บางที่ต้องใช้ผู้คนเป็นจำนวนมากในการเคลื่อนย้าย การจับยึดไม่ให้หลุดลอยไป หรือมาช่วยกันนำว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า และด้วยปัจจุบันวิวัฒนาการของผ้าทำให้มีความแข็งแรง คงทน ไม่ขาดง่าย

เทศกาลว่าวนานาชาติ กับว่าว Inflatable

เทศกาลว่าวนานาชาติ ปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 – 25 มี.ค. ณ โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีว่าวหลากหลายรูปร่างแตกต่างตามจินตนาการกันไป ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเทศกาล ผู้คนต่างรอคอยกันเพื่อมาดูว่าในแต่ละปีจะมีว่าวรูปตัวอะไรมาให้เห็นกันบ้าง โดยว่าวประเภทนี้จะเรียกความสนใจจากผู้ชมได้เป็นจำนวนมากกว่าว่าวประเภทอื่น ๆ

                อันที่จริงเทศกาลว่าว Inflatable ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยที่เดียว ประเทศต่าง ๆ ทั้งในแถบภาคพื้นเอเซีย ทางยุโรป และทั่วทุกมุมโลกก็มีเช่นกัน ในงานจะมีการแข่งขันไปตามแต่กฎกติกากันไป เช่น การประกวดว่าวที่ใหญ่ที่สุดไม่เพียงแค่ตัวว่าวจะมีขนาดใหญ่แล้วจะชนะไปเลยอย่างเดียว หากแต่มีข้อกำหนดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ว่าวต้องสามารถลอยขึ้นฟ้าได้ และต้องอยู่บนท้องฟ้าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20 นาที เป็นต้น ความยากของว่าว Inflatable คือการนำว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า ด้วยเพราะส่วนมากจะเป็นว่าวที่มีขนาดใหญ่ และเป็นว่าวที่มีรูปร่างเป็น 3 มิติ การประดิษฐ์เพื่อให้เกิดสมดุลของว่าว เพื่อเวลานำขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้วจะได้ไม่เสียสูญร่วงตกลงมา เป็นอีกอย่างที่ยากและต้องอาศัยความชำนาญร่วมด้วย

 

post

ว่าวสตั้นท์ (Stunt kite) ดีกรีไม่ธรรมดา โชว์ลีลาแบบว๊าวสุด..สุด

ทุกวันนี้การเล่นว่าวไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องธรรมดา ๆ อีกต่อไป เพราะว่าวในปัจจุบัน มีสมรรถนะที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยเพราะวัสดุอุปกรณ์ในการนำมาใช้เพื่อผลิตว่าว หรือวิธีการที่คิดค้นประดิษฐ์จัดทำจัดสร้างว่าวที่ซับซ้อนขึ้น จนบางทีทำให้ว่าวมีราคาสูงเป็นอย่างมาก และรวมไปถึงทักษะของผู้เล่น ที่ต้องมีการฝึกฝน ฝึกซ้อมไม่แพ้กีฬาในประเภทอื่น ๆ เลย

ว่าวสตั้นท์ อีกหนึ่งงานอดิเรกยอดนิยมของคนรักว่าว จัดเป็นว่าวที่ต้องการการบังคับแบบผาดโผน และมีความรวดเร็วเป็นอย่างมาก  จึงกลายมาเป็นที่นิยมในเวลาไม่นาน จนมีการแข่งขันว่าวประเภทนี้ขึ้น ซึ่งว่าวสตั้นท์นั้นมีทั้งแบบ สายป่านเดียว, แบบ 2 สายป่าน, และ แบบ 4 สายป่าน อีกทั้งยังมีการละเล่นแบบ ประเภทผู้เล่นเดี่ยว ประเภทคู่ และประเทภทีมด้วย
ว่าวสตั้นท์มักนิยมเล่นกันบริเวณชายหาดทะเล เนื่องจากมีขนาดใหญ่ มีความรวดเร็ว จึงต้องใช้พื้นที่ในการเล่นที่กว้าง เพื่อให้ได้โชว์ลีลาทั้งของตัวว่าว และของผู้บังคับว่าว โดยลีลาของตัวว่าวจะไม่ได้ขึ้นบินบนท้องฟ้าแล้วลอยอยู่นิ่ง ๆ  เฉย ๆ หรือเพื่อต้านลมธรรมดา หากแต่มันจะถูกบังคับโต้กับสายลมเบื้องบนอย่างคล่องแคล่ว ฉวัดเฉวียง และมีท่วงท่าตามการออกแบบจากผู้บังคับมัน ไม่ว่าจะเป็นกันม้วนตัวหลายตลบเป็นวงกลมแบบควงสว่าน หรือจะเป็นท่าโฉบจากบนลงล่างอย่างแรงและม้วนหัวกลับขึ้นข้างบนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เล่นได้ออกเหงื่อออกแรงกัน พร้อมร้อยยิ้มบนใบหน้าของความสนุกสนาน เพลินเพลินกันไปเลยทีเดียว

ส่วนประกอบและโครงสร้างของสตั้นท์ไคท์

โครงสร้างของว่าวจะประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ แบ่งเป็น ส่วนหัวว่าวซึ่งเป็นจุดที่จะเสียหายง่าย หากไม่ชำนาญในการเล่นก็จะทำให้ส่วนหัวปักลงกระแทกพื้น ผู้เล่นใหม่ ๆ อาจหาอะไรมาเย็บหุ้มปิดอีกสักชั้นก็ได้ ส่วนของเส้นเดินโครงหรือก้านค้ำว่าว มี 4 ก้าน แบ่งเป็นด้านละ 2 ก้าน จะนิยมทำจากไฟเบอร์กลาส, แท่งคาร์บอน, และแท่งการ์ไฟต์ คล้าย ๆ โครงทำเต็นท์ หรือคันเบ็ดตกปลา ด้วยเพราะมีความทนทาน มีการยืดหยุ่นตัวสูง และที่สำคัญมีน้ำหนักเบา
ส่วนเส้นเดินโครงนี้ จะเป็นตัวรั้งว่าวส่วนบนให้ตึง ยิ่งตึงก็จะยิ่งทำให้มีเสียงดังเวลาที่ว่าวขึ้นบินลอยล่องอยู่บนอากาศ จากนั้นก็จะเป็นส่วนปีกทั้ง 2 ข้างของว่าว ส่วนต่ำลงมาก็จะเป็นเส้นเดินโครงด้านล่าง ลักษณะคล้ายกับเส้นเดินโครงด้านบน เป็นตัวช่วยรั้งส่วนว่าวด้านล่างให้ตึง อีกส่วนที่สำคัญคือส่วนที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Standoff  ที่มีลักษณะเป็นเสาสั้น ๆ ค้ำยันระหว่างตัวเนื้อผ้าของว่าว และส่วนโครงด้านล่าง ทำให้ว่าวดูมีชั้น มีมิติ เมื่อลมที่พัดมาปะทะก็จะกลายเป็นแรงดันด้านในให้ว่าวยกตัวสูงขึ้นก่อนที่ลมจะรอดไหล่ผ่านออกไป

นอกเหนือจากส่วนตัวโครงสร้างแล้วก็จะมีส่วนของตัวผ้าที่นำมาขึงกับตัวโครง ส่วนใหญ่นิยมใช้ผ้าไนล่อน ที่มีน้ำหนักเบา ต้านแรงลมได้ดี แต่แข็งแรงไม่ขาดง่าย อีกส่วนที่สำคัญคือส่วนที่เรียกว่า Tow Point เป็นจุดที่เชื่อมต่อเชือกว่าวสายป่านที่ผู้เล่นใช้บังคับ อย่างในส่วนของว่าวสตั้นท์แบบ 2 สายกับ 4 สาย นั้น ถ้าอยากให้ว่าวไปทิศทางซ้ายก็บังคับสายป่านทางด้านซ้าย ถ้าต้องการให้ไปทิศทางขวาก็บังคับสายป่านไปทางด้ายขวา จึงเป็นเสน่ห์ของว่าวชนิดนี้ ที่ทำให้ผู้เล่นบังคับทิศทางได้ตามต้องการเหมือนการถือพวงมาลัยบังคับเวลาขับรถยนต์ และยังสามารถบังคับขึ้นลงได้เหมือนเครื่องบินอีกด้วย

 

post

มาทำความรู้จัก แล้วจะหลงเสน่ห์ของ ว่าวพาราฟอยล์

ที่ผ่านมาคุณ ๆ คงคุ้นเคยกับว่าวที่มีวิธีการประดิษฐ์แบบอดีตดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น ว่าวของชาวไทย อย่างเช่น ว่าวจุฬา ว่าวควาย ว่าวปักเป้า หรือ บ้างก็จะเป็นว่าวของนานาประเทศ อย่างเช่น ว่าวของประเทศญี่ปุ่น หรือว่าวของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องของการจัดกิจกรรมเทศกาลว่าว และจากอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็ตาม  ซึ่งพวกว่าวเหล่านั้น ส่วนมากมักเป็นว่าวที่ต้องทำการขึ้นโครงและนำวัสดุที่เป็นกระดาษ หรือผ้า มาปิดทับบนตัวโครง เพื่อทำให้แนวโครงนั้นเป็นตัวโครงสร้างหลักที่แข็งแรงในการต้านแรงลม อันถือได้ว่าเป็นส่วนที่สำคัญในการประดิษฐ์จัดทำว่าวเหล่านั้นขึ้นมาเสียเป็นส่วนใหญ่

แต่ในปัจจุบันนี้ว่าวได้ถูกปรับเปลี่ยน และพัฒนาให้เกิดความเสถียรในการเล่น และเพิ่มความสนุกสนานให้กับผู้เล่นในขณะที่ว่าวทำการโลดแล่นไปบนท้องฟ้าในอีกหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันออกไป ลองมาดูและทำความรู้จักกับ “ว่าวพาราฟอยล์” ซึ่งเป็นชื่อเรียกตรงตัวจากคำภาษาอังกฤษคือ Para foil โดยว่าวพาราฟอยล์ เป็นว่าวที่ได้ทำการพัฒนาปรับปรุงมาจากว่าวแบบเดิม ๆ ที่นิยมเล่นกันมาช้านานตั้งแต่ในอดีตมาสู่ปัจจุบัน หากแต่มันมีความแตกต่างกันตรงที่ว่า ว่าวพาราฟอยล์นั้นไม่มีโครงสร้างที่ไว้ยึดตรึงกับกระดาษ หรือผ้า แต่มีเชือกจูงเส้นเดียวเหมือนว่าวที่เรารู้จักกันดี

คุณลักษณะและข้อดีของว่าวพาราฟอยล์

ขึ้นชื่อว่าว่าว สิ่งที่สำคัญคือการที่มันได้โลดแล่นไปบนท้องฟ้าอย่างสง่างาม พลิ้วไหว เมื่อยามเวลาที่มันโต้สายลม ว่าวพาราฟอยล์จึงถูกประดิษฐ์คิดค้นให้ไร้โครง มีแนวแบ่งเป็นร่อง ๆ ซึ่งเรียกันว่าเซลล์ เมื่อลมถูกพัดพาให้เข้าไปทางช่องเปิดด้านหน้าเหล่านั้น จะเป็นการช่วยพยุงตัวว่าวได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดความเสถียร ด้วยเพราะลมที่พัดผ่านไปในเซลล์ทำให้เกิดแรงดันอากาศ และทำให้แรงดันอากาศภายในเซลล์เหล่านั้นสูงกว่าแรงดันอากาศบริเวณภายนอก ส่วนด้านล่างของว่าวจะถูกทำเป็นรูปสามเหลี่ยม ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า flare ไว้สำหรับผูกรั้งกับเชือกว่าว

ในเรื่องของรูปร่างก็แล้วแต่จะตัดผืนผ้าในลักษณะใด มีทั้งที่เป็นสีเหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นต้น และส่วนมากมักจัดทำขึ้น จากผืนผ้าของว่าว ที่มีสีสันฉูดฉาดร้อนแรง เวลามองขึ้นไปเหมือนเป็นการเพิ่มสีสันบนท้องฟ้าไปด้วย และด้วยการที่ไม่ต้องมีตัวโครง ทำให้เรื่องของการจัดเก็บเป็นไปได้ง่าย ใช้การพับเหมือนเวลาเราพับผ้า และการพกพาไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็ทำให้ได้รับความสะดวกมากกว่าว่าวที่มีโครงสร้าง ถ้ายิ่งมีขนาดใหญ่ โครงสร้างก็จะใหญ่ตามไปด้วย  จึงเป็นข้อจำกัดของว่าวที่มีโครง แต่สำหรับว่าวพาราฟอยล์ การจะพาไปไหนต่อไหนด้วยนั้นแสนจะง่ายดาย และนอกจากนี้ ว่าวพาราฟอยล์หากจัดทำให้มีขนาดใหญ่รองรับน้ำหนักคน ให้ขึ้นไปโลดแล่นพร้อมกับพวกมันได้อีกด้วย ไปไหนไปด้วยกันได้ในทุก ๆ ที่จริง ๆ

 

post

ว่าวควายเอกลักษณ์แห่งตำนานเมืองสตูล ที่อยู่คู่แดนใต้มายาวนาน


สตูลเป็นเมืองที่มีคำขวัญว่า “สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์”  ซึ่งคำขวัญนี้เมื่ออ่านแล้วกลับมองได้เห็นภาพถึงสิ่งที่เขียนได้ในทันที การดำรงชีพท่ามกลางธรรมชาติอย่างพอเพียงทำให้สตูลเป็นอีกเมืองที่น่าค้นหา นอกจากธรรมชาติแล้ว สตูลยังมีประเพณีที่น่าสนใจอีกอย่างคือ งานว่าวประเพณี โดยความเป็นมาของงานแข่งขันว่าวนั้นมีมาตั้งแต่ ปี 2519 ซึ่งได้จัดขึ้นที่สนามบินจังหวัดสตูล และมีงานต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลได้ให้ความสำคัญกับประเพณีนี้เป็นอย่างดี ด้วยเห็นคุณค่าในว่าวไทย และน่าจะเป็นส่วนที่จะทำให้สตูลเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการเชื้อเชิญนักว่าวจากทั่วประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมงาน 

“ว่าวควาย” เป็นว่าวอีกแบบที่เป็นที่นิยม และเหมือนจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสตูลไปเสียแล้ว หรือเปรียบเสมือนว่าวดุ๊ยดุ่ยของภาคใต้ตอนบน ถึงแม้ที่จริงแล้วก็มีว่าวในรูปแบบอื่นอยู่ด้วยก็ตาม และปัจจุบันว่าวควายได้เป็นที่รู้จักทั่วไป ว่าวหัวควาย หรือว่าวควายเป็นว่าวที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างว่าวหลา หรือว่าวจุฬา กับว่าววงเดือน โดยเปลี่ยนจากวงเดือนเป็นรูปหัวควายแทน และติดแอกด้วย โดยสมัยก่อนสตูลใช้ควายไถนาพอไถเสร็จก็ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็นั่งเลี้ยงควาย ดูแลควายและคิดจะตอบแทนบุญคุณควาย จึงได้ความคิดการทำว่าวเป็นรูปหัวควาย เหมือนควายกำลังก้ม ว่าวควายเป็นว่าวที่ถือว่าสมบูรณ์แบบ เพราะมีหัว มีหู มีจมูก มีเสียง การทำว่าวควายที่ดีต้องทำจากไม้ไผ่สีสุกเท่านั้น และควรเป็นไผ่ที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป ไผ่แก่เกินไปก็ไม่ดี อ่อนเกินไปก็ไม่ดี

ลักษณะของว่าวควาย

ว่าวควายจะมีรูปลักษณ์ตอนบนมีปีกโค้ง ตอนล่างทำโครงเป็นรูปร่างหัวควาย มีเขายาวโค้งรับกับปีกบน ความยาวของปีกจะมีขนาดต่ำสุดประมาณ 1.20 เมตร ส่วนหัวจะติดแอกเพื่อให้เกิดเสียงดังคล้ายเสียงของควาย ทำจากกระดาษฟางซึ่งตอนนี้หาได้ยากขึ้น โดยว่าวควายเมื่อถูกปล่อยขึ้นฟ้าแล้วต้องส่าย ถ้าไม่ส่าย แสดงว่าใช้ไม่ได้ เพราะว่าวควายเป็นว่าวที่เลียนแบบควาย ด้วยเพราะลักษณะของควายเวลากินหญ้าจะชอบส่ายหัวไปมา

การแข่งขัน

การแข่งขันจะมีหลายประเภท จะวัดกันเมื่อนำเชือกมาผูกหลักเหมือนเวลาเรานำควายไปผูกปลักให้กินหญ้า การเหวี่ยงซ้ายขวาต้องเท่า ๆ กัน ถ้าแข่งแบบประเภทความสูงก็จะมีความสูงที่ 90 องศา ตัวไหนถึง 90 องศาก่อนก็จะชนะไป                

สตูลถือได้ว่าเป็นจังหวัดแรกเริ่มในการทำว่าวควายและนำมาใช้แข่งขันเป็นแบบประเภทเสียงดังไพเราะ และมีการดูลักษณะการลอยตัวของว่าว โดยถือเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนว่าวอื่น

 

post

ดุ๊ยดุ่ย อุปกรณ์สร้างพลังเสียง ที่ทำให้ว่าวไทยไม่ไร้จิตวิญญาณ


ดุ๊ยดุ่ย เป็นชื่อเรียกของว่าวอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักไม่แพ้ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ที่เราคุ้นหู และว่าวดุ๊ยดุ่ย จะมีลักษณะคล้ายกับว่าวจุฬามาก หากแต่ว่าจะต่างกันตรงที่ว่า ดุ๊ยดุ่ยมีขากบเป็นรูปเดียวกับปีก ติดอยู่ซ้อนกัน ส่วนด้านบนจะใหญ่ แต่ด้านล่างจะเล็ก ตอนล่างสุดมีไม้ขวางอีกอันหนึ่ง สำหรับผูกหาง ซึ่งจะมีด้วยกันสองหางเพื่อช่วยในการทรงตัวในขณะที่ลอยอยู่ในอากาศ ที่ส่วนหัวของว่าวดุ๊ยดุ่ยจะผูกธนู หรือ สะนู หรือ อูด ซึ่งทางภาคใต้จะเรียกว่า แอก ซึ่งเป็นลักษณะคันเหมือนธนู ทำด้วยไม้ไผ่ เจาะรูให้เป็นสี่เหลี่ยม อยู่กลางคันให้พอดีกับเดือยสี่เหลี่ยมที่ยื่นออกมา ส่วนตัวกลางที่ทำให้เกิดเสียงนั้น ก็จะใช้ไม้ไผ่หรือหวาย เหลาให้เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วเอาปลายเชือกสองข้างผูกติดปลายเมื่อว่าวขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศ ไม้ไผ่หรือหวายแผ่นบาง ๆ ที่ถูกขึงอยู่นั้น เมื่อมีลมมาปะทะด้วย ก็จะทำให้เกิดเสียงดังตุ๋ยตุ่ย ตลอดเวลา ว่าวดุ๊ยดุ่ยจะเคลื่อนตัวช้า แต่สง่างาม และจะมีว่าวอีกชนิดที่คล้าย ๆ กับว่าวดุ๊ยดุ่ย คือ ว่าวสองห้อง ซึ่งอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ และพบมากในภาคอีสาน ที่จริงดุ๊ยดุ่ยไม่ได้เป็นชื่อว่าวแต่เป็นส่วนที่เรียกว่าทำเสียง เพียงแต่ในว่าวชนิดอื่น ๆ ไม่นิยมติดอุปกรณ์ตัวนี้

ส่วนประกอบของดุ๊ยดุ่ย

          ส่วนที่เป็นคันธนู จะทำจากไม้ไผ่แก่จัดมีความยาวไม่ต่ำกว่า 1.20 ม. เหลาหัวท้ายให้เรียว ลักษณะเป็นท้องปลิง ลนไฟแล้วดัดให้ตรง หันส่วนที่เป็นผิวไม้ออกด้านนอก ลนไฟให้ส่วนปลายทั้งสองข้างโค้งเล็กน้อย และทำหยักบริเวณปลายทั้งสองข้างให้เป็นเดือยยาวประมาณ 1 ซม. ใช้กระดาษทรายขัดเพื่อลบคมออก

          ส่วนใบของดุ๊ยดุ่ย โดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นใบลานเพราะเนื้อเหนียว ควรเลือกใบที่สมบูรณ์ นำมาตากให้แห้ง ตัดให้มีความกว้างประมาณ 10 มม. ยาวประมาณ 90 ซม. ใช้ตะปูตอกยึดหัวท้ายไว้ นำไม้บรรทัดกดทับแล้วกรีดด้วยคัดเตอร์

          ส่วนสายรั้ง นิยมใช้เป็นสายป่าน เนื่องจากมีความเหนี่ยวและน้ำหนักเบา พลิ้วไหวได้ดี ยาวข้างละประมาณ 30 ซม.  ถ้าหากสั้นเสียงจะดังถี่  ถ้าสายยาวเสียงจะดังยาวกว่า  และถ้าเส้นเล็กเกินไปจะขาดง่าย ส่วนถ้าเส้นใหญ่เกินไปจะทำให้มีน้ำหนักเยอะเคลื่อนไหวได้ไม่ดี

          ขึ้ผึ้งแท้ หรือขี้สูด สำหรับติดถ่วงส่วนหัวทั้งสองข้างของใบดุ๊ยดุ่ย เพื่อไว้สำหรับปรับเสียง ป้องกันการเกินขนที่สายเป็นการยืดอายุการใช้งาน

วิธีการประกอบ

การผูกควรใช้เป็นเงื่อนตะกรุดเบ็ดพันหลาย ๆ รอบ ขึ้นสายให้ตึงแล้วใช้กระดาษทรายขัดแต่งใบทั้งส่วนผิวและขอบอย่าให้มีติดขน ระวังอย่าให้ใบบิดเบี้ยว ถ้าใบไม่เรียบใช้เตารีดไฟอ่อนรีดให้เรียบ

การทำดุ๊ยดุ่ยอย่างพิถีพิถันจะช่วยทำให้ว่าวที่ติดดุ๊ยดุ่ยมีเสน่ห์ทางเสียงมากยิ่งขึ้น และหากเป็นว่าวที่ต้องแข่งขันด้วยเสียงแล้ว ดุ๊ยดุ่ยยิ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนักในการจะเอาชนะคู่แข่ง

 

post

เสน่ห์ของว่าววงเดือนที่ถูกจัดสรรได้อย่างวิจิตรงดงาม


สมัยก่อนมีตำนานเล่าสืบกันถึงว่าววงเดือน ว่าเป็นของเล่นของเหล่าเทพเทวดา ทำให้ว่าววงเดือนมักจะมีรูปภาพลวดลายเป็นรูปเทวดา ว่าววงเดือน หรือเรียกว่า “วาบูแล หรือ วาบูลัน” ซึ่งบูลันนั้น แปลว่าดวงจันทร์ จึงทำให้ว่าวมีรูปดวงเดือนเป็นส่วนประกอบอยู่ตรงกลางลำตัว ระหว่าง ปีก และเขา ว่าววงเดือน มีสองแบบคือ แบบที่มีแอก และแบบไม่มีแอก  บ้างก็ว่าว่าววงเดือนมาจากประเทศมาเลเซีย บ้างก็ว่าเป็นของชาวจังหวัดปัตตานี ความเป็นมาของว่าวบางคนบอกว่าว่าวมาจากประเทศมาเลเซีย และบางคนบอกว่ามาจากจังหวัดปัตตานี

การทำว่าววงเดือนแบบง่าย ๆ คือการที่หาวัสดุได้ทั่วไป ทำไม่ยาก แต่อาศัยสิ่งสำคัญคือความประณีต ส่วนถ้าจะทำให้ได้สวยงามต้องอาศัยประสบการณ์ทำบ่อย ๆ

อุปกรณ์ที่ใช้หลัก ๆ ในการประดิษฐ์ว่าว

– ไม้ไผ่
– เชือกผูก
– มีดเหลา
– กระดาษว่าว
– กระดาษสี
– สายป่าน
– กาว

ขั้นตอนการทำ

นำไม้ไผ่ที่ได้เตรียมไว้มาเหลาให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นขึ้นโครงว่าวตามรูปแบบของว่าววงเดือนด้วยไม้ไผ่ที่เหลาไว้ แล้วผูก ด้วยเชือก นำกระดาษว่าวหรือกระดาษลอกลายมาติดลงไปบนโครงไม้ไผ่ และจากนั้นนำกระดาษสีที่ทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ไว้ มาติดทับไปบนกระดาษส่วนที่เป็นตัวว่าวจากนั้นพักไว้ก่อน นำกระดาษว่าวมาทำเป็นภู่ แล้วจึงนำไปพันที่คอว่าวผูกด้วยเชือก เมื่อทำการกรุเสร็จแล้วก็จะนำมาร้อยเชือก สายคันซุง หรือตามภาษาท้องถิ่นเรียก สายการดุ๊ก เพื่อเชื่อมตัวว่าวกับสายป่าน หากเป็นว่าวแบบที่มีแอกก็ต้องใส่แอกด้วย การใส่แอกซึ่งมีลักษณะคล้ายคันธนู เพื่อให้ว่าวมีเสียงดังกังวานยามที่ถูกปล่อยให้ลอยบนท้องฟ้า เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว  ส่วนความยากง่ายและความสวยงามขึ้นอยู่กับลวดลาย ซึ่งการทำลวดลายเป็นเอกลักษณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างชัดเจน จะมีจุดที่ต้องระวังคือช่วงกันกบของตัวว่าวที่โค้งรูปเป็นวงเดือน เพราะเป็นส่วนที่ยากที่สุด เพราะถ้าไม่ชำนาญว่าวตัวนั้นก็จะลอยได้ไม่ดี ไม่นิ่ง จะส่ายไปมา บังคับได้ยาก

เอกลักษณ์ของว่าววงเดือน คือการสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์สุนทรีย์ของชาวมลายู เพราะไม่ใช่เป็นการทำว่าวเพียงเพื่อให้ลอยอยู่บนอากาศได้ หากแต่ยังตกแต่งอย่างตั้งใจสวยงามวิจิตรตามลวดลายของท้องถิ่น และยังเพิ่มเสียงดนตรีอันไพเราะยามเมื่อฉวัดเฉวียงไปมาในอากาศ ด้วยการใส่แอกใบลานที่ติดกับตัวว่าว เมื่อถึงฤดูร้อน ลมเย็น ๆ พัดผ่านมาสายป่านที่ถูกจับประคับประคองไว้ เพื่อให้โต้แรงลม จับจังหวะและทิศทางให้อยู่หมัดด้วยผู้ที่คอยควบคุมมัน ปล่อยใจไปตามสายป่านที่ทอดยาวไปไกล มองดูการโฉบเฉี่ยวเวหาของสมุนที่ส่งขึ้นฟ้าไป ก็รู้สึกผ่อนใจได้ในช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียว