post

ว่าว 5 ภาค บ่งบอกวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของแต่ละภูมิภาคของไทย


จากที่เราได้ทราบกันดีถึงประวัติของว่าวที่มีกันมาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทำให้ว่าวได้กระจ่ายไปทั่วทุกภูมิภาคของบ้านเมืองเรา ได้รับความนิยมตั้งแต่ระดับสามัญชนไปจนถึงชั้นเจ้านาย เจ้าแผ่นดิน ว่าวในแต่ละภูมิภาคก็จะมีเอกลักษณ์ มีความแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น และตามสภาพแวดล้อม

ว่าวของภาคเหนือ

ทางภาคเหนือนั้นมีการทำว่าวรูปแบบที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้โครงไม้ไผ่นำมาไขว้กัน โดยมีหนึ่งอันเป็นแกนกลาง และอีกหนึ่งอันนำมาโค้งเป็นปีกว่าว และจะไม่ได้ใช้เชือกผูกหรือมัด แต่ใช้เป็นกระดาษปิดทับไปกับโครงไม้เลย รูปร่างของว่าวจะคล้าย ๆ กับว่าวปักเป้า และว่าวอีลุ้มของทางภาคกลาง แต่จะไม่มีหาง จะมีแต่ภู่ แต่ก็จะใช้เป็นภู่เพียงชนิดเดียวจะไม่มีหลายแบบเหมือนของภาคกลาง ผู้คนส่วนมากนิยมเล่นว่าวในแบบพื้นเมืองของพวกเค้า โดยที่นิยมมากที่สุด คือว่าวสองห้อง หรือที่ภาคกลางเรียกว่า ว่าวดุ๊ยดุ่ย  ปัจจุบันนี้ทางภาคเหนือได้มีการดัดแปลงจากว่าวพื้นเมือง มาเป็นว่าวล้านนา เรียกว่าว่าวฮม หรือ โคมลอย นั่นเอง โดยใช้ความร้อนในการพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศแบบไม่มีเชือกผูกว่าวไว้  คล้าย ๆ  กับบอลลูนของชาวต่างชาติ

ว่าวของภาคกลาง

สืบเนื่องมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ที่ชาวเมืองมีความนิยมชมชอบการเล่นว่าวเป็นอย่างมาก และมีรูปแบบต่าง ๆ กันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นว่าวรูปแบบดั้งเดิม เช่น ว่าวปักเป้า ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวอีลุ้ม นอกจากนี้ก็มีว่าวรูปแบบใหม่ ๆ  ที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ เช่น ว่าวงู ว่าวนกยูง ว่าวผีเสื้อ เป็นต้น แต่มาในสมัยของพระเจ้าอู่ทองได้มีการห้ามมิให้มีการเล่นว่าวใกล้พระบรมมหาราชวัง เพราะว่าวจะลอยไปติดตามยอดปราสาทเกิดความเสียหายนั่นเอง ในช่วงหนึ่งนั้นชาวต่างชาติจะพบเห็น การเล่นว่าวทั่วไปตามท้องสนามหลวง โดยในสมัยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ได้ทรงมีพระบรมราชานุญาติ ให้ประชาชนเล่นว่าวได้ที่ท้องสนามหลวง จึงเป็นเหมือนสัญญาลักษณ์ และเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติไปเสียแล้ว โดยว่าวที่นิยมและถือเป็นลักษณะว่าวของภาคกลางคือว่าวปักเป้า ซึ่งจะมีอาวุธที่ใช้โจมตีคู่ต่อสู้ ที่เรียกว่า เหนี่ยง โดยจะมีสายทุ้งและสายยืน ซึ่งสายทุ้งจะมีลักษณะที่ยาวกว่าสายยืนสักเล็กน้อย แต่ก็ใหญ่และแข็งแรงพอที่จะจัดการเหนี่ยวรั้งว่าวจุฬาทำให้เสียการทรงตัวแล้วล่วงตกลงในที่สุด

ว่าวของภาคตะวันออก

ว่าวของภูมิภาคนี้ ที่มักนิยมเล่นกัน ก็จำพวก ว่าวอีลุ้ม ว่าวหาง ว่าวหัวแตก ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวใบมะกอก เป็นต้น ซึ่งเป็นว่าวในรูปแบบดั้งเดิม พื้นบ้าน หรือลักษณะว่าวของภาคอื่น ๆ โดยไม่นิยมที่จะเล่นว่าวที่เป็นรูปลักษณ์จากของต่างประเทศ

ว่าวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผู้คนส่วนมากนิยมเล่นว่าวพื้นเมืองมากที่สุด คือว่าวสองห้อง หรือที่ภาคกลางเรียกว่า ว่าวดุ๊ยดุ่ย รองมาคือว่าวอีลุ้ม ว่าวประทุน และเมื่อถึงเทศกาลงานบุญ เช่น งานบุญกุ้มข้าวใหญ่ ประชาชนมักจะจัดให้มีการแข่งขันว่าว โดยมีการกำหนดการตัดสินที่หลากหลายกันไป เช่น ความสวยงาม หรือว่าวที่ขึ้นลมได้สูงที่สุด ว่าวที่มีเสียงดังและไพเราะที่สุด เป็นต้น

ว่าวของภาคใต้

การเล่นว่าวในภาคนี้นิยมเล่นเพื่อสร้างความสนุกสนาน โดยมีว่าวที่นิยมอยู่หลายชนิด เช่น ว่าววงเดือน ว่าวปักเป้า ว่าวนก ว่าวหลา (ว่าวจุฬา) ว่าวอีลุ้ม ว่าวงู ว่าวคน ว่าวกระบอก เป็นต้น แต่ว่าวที่นิยมมากที่สุดคือ ว่าววงเดือน โดยจะทำการชักว่าวให้ขึ้นค้างคืนไว้ แล้วเอาลงในอีกวันถัดไป เมื่อว่าวของใครอยู่ได้นานกว่าถือว่าชนะ นอกจากนี้จะนิยมประชันว่าว่าวของใครจะมีเสียงแอกดังและไพเราะกว่ากัน จังหวัดสงขลามีผู้นิยมเล่นว่าวเป็นจำนวนมาก และมีรูปร่างว่าวต่าง ๆ ส่วนในพื้นที่ที่อยู่ถัดลงไปจากสงขลา จะนิยมเล่นว่าววงเดือนมากกว่าว่าวแบบอื่น และมักจะนิยมติดแอกหรือที่เรียกกันว่า สะนู หรือ ธนู ไว้บริเวณส่วนหัวของว่าว

จะเห็นได้ว่าว่าวไทยมีอยู่ทั่วไปทุกภาค นอกจากเป็นกีฬาแล้วก็ยังสร้างความสนุกสนานเพลินเพลินให้ทั้งผู้เล่นและผู้ชมอีกด้วย  ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในภูมิปัญญา และการเล่นกีฬาพื้นบ้านของคนไทย

 

post

ไปดูคนไทยเค้าเล่นว่าวกันช่วงไหนกันบ้าง


ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตลมมรสุม ทำให้กีฬาเล่นว่าวที่มีมาแต่ช้านานแล้วนั้นเป็นที่นิยมกันทุกภาคของประเทศไทย และทุกชนชั้นนับตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงคนสามัญทั่วไป แล้วยังใช้ประโยชน์อื่น ๆ จากว่าว นอกจากความเพลิดเพลินอีกด้วย โอกาสสำหรับการเล่นว่าวไม่ได้อำนวยให้เสมอ หากแต่มีฤดูกาลของมัน แน่นอนจะเล่นว่าวให้สนุกต้องดูเรื่องของกระแสลม

กระแสลมจะมีอยู่ 2 ระยะ คือ

          ฤดูหนาว

ลมจะทำการพัดจากผืนแผ่นดินเพื่อลงสู่ท้องทะเล คือ จะพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้คนทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะยังคงนิยมเล่นว่าวในหน้าหนาว ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์

          ฤดูร้อน

ในช่วงฤดูร้อน จะมีลมทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้จากทางทะเล พัดเข้าสู่ผืนแผ่นดิน หรือที่เราเรียกกันว่า ลมตะเภา ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูการเล่นว่าวของชาวภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งจะอยู่ในช่วงของเดือนมีนาคม ถึง เมษายน และมักจะนิยมเรียกกันว่า ลมว่าว

วิธีเล่นว่าวของไทย มีอยู่ 3 วิธี คือ

  1. การชักให้ว่าวลอยลมอยู่กับที่ เพื่อมองดูความสวยงามและความพลิ้วไหวของว่าว
  2. การบังคับว่าวให้เคลื่อนที่ไปมาตามความต้องการ เช่น ความสูงต่ำ การฉวัดเฉวียงไปมา และบางครั้งก็จะมีในเรื่องของเสียงเข้ามาสร้างความไพเราะ
  3. การต่อสู่แข่งขันกลางอากาศ

ทั้งนี้การเล่นว่าวใน 2 ชนิดแรกจะเน้นในเรื่องของความสวยงามตามท้องถิ่นและภูมิปัญญา โดยจะมี

หลายหลายรูปแบบแตกต่างกันไป ส่วนการเล่นว่าวในลำดับสุดท้ายจะยังคงนิยมกันมาจากอดีตจนปัจจุบันคือการแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้า ซึ่งว่าวจุฬาจะมีขนาดใหญ่กว่าว่าวปักเป้าถึง 2 เท่า โดยว่าวจุฬามีอาวุธคือ จำปา ส่วนว่าวปักเป้ามีอาวุธคือเหนียง ต่างคนต่างต้องเกี่ยวให้อีกฝ่ายร่วงตกลงมา ฝ่ายที่ยังคงอยู่บนท้องฟ้าจะเป็นฝ่ายชนะ นอกจากการแข่งขันว่าวแบบว่าวจุฬากับว่าวปักเป้านี้แล้ว ก็ยังมีการแข่งแบบอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ เช่น การชักว่าวแข่งความสูง การแข่งขันด้านความสวยงาม การแข่งขันเรื่องเสียงดัง เสียงไพเราะ เหมือนว่าวที่ติดดุ๊ยดุ่ย หรือติดแอก แบบของทางภาคใต้นั่นเอง

จะเห็นได้ว่าในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๑๓ กล่าวถึงการเล่นว่าวไว้ว่า “ปรากฏหลักฐานการเล่นว่าวว่ามีมาแต่กรุงสุโขทัย เป็นว่าวที่ส่งเสียงดังเวลาลอยอยู่ในอากาศ เรียกว่า “ว่าวหง่าว” ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ปรากฏตามหลักฐานของชาวต่างประเทศว่า “ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามปรากฏในท้องฟ้าทุกคืนตลอดเวลาระยะ 2  เดือน…” จากหลักฐานข้างต้นแสดงให้เห็นว่าชาวไทยรู้จักการเล่นว่าวมาไม่ต่ำกว่า 7๐๐ ปีแล้ว  และควรสืบสานและอนุรักษ์การเล่นว่าวของไทยให้คงอยู่ต่อไป