post

ดุ๊ยดุ่ย อุปกรณ์สร้างพลังเสียง ที่ทำให้ว่าวไทยไม่ไร้จิตวิญญาณ


ดุ๊ยดุ่ย เป็นชื่อเรียกของว่าวอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักไม่แพ้ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ที่เราคุ้นหู และว่าวดุ๊ยดุ่ย จะมีลักษณะคล้ายกับว่าวจุฬามาก หากแต่ว่าจะต่างกันตรงที่ว่า ดุ๊ยดุ่ยมีขากบเป็นรูปเดียวกับปีก ติดอยู่ซ้อนกัน ส่วนด้านบนจะใหญ่ แต่ด้านล่างจะเล็ก ตอนล่างสุดมีไม้ขวางอีกอันหนึ่ง สำหรับผูกหาง ซึ่งจะมีด้วยกันสองหางเพื่อช่วยในการทรงตัวในขณะที่ลอยอยู่ในอากาศ ที่ส่วนหัวของว่าวดุ๊ยดุ่ยจะผูกธนู หรือ สะนู หรือ อูด ซึ่งทางภาคใต้จะเรียกว่า แอก ซึ่งเป็นลักษณะคันเหมือนธนู ทำด้วยไม้ไผ่ เจาะรูให้เป็นสี่เหลี่ยม อยู่กลางคันให้พอดีกับเดือยสี่เหลี่ยมที่ยื่นออกมา ส่วนตัวกลางที่ทำให้เกิดเสียงนั้น ก็จะใช้ไม้ไผ่หรือหวาย เหลาให้เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วเอาปลายเชือกสองข้างผูกติดปลายเมื่อว่าวขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศ ไม้ไผ่หรือหวายแผ่นบาง ๆ ที่ถูกขึงอยู่นั้น เมื่อมีลมมาปะทะด้วย ก็จะทำให้เกิดเสียงดังตุ๋ยตุ่ย ตลอดเวลา ว่าวดุ๊ยดุ่ยจะเคลื่อนตัวช้า แต่สง่างาม และจะมีว่าวอีกชนิดที่คล้าย ๆ กับว่าวดุ๊ยดุ่ย คือ ว่าวสองห้อง ซึ่งอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ และพบมากในภาคอีสาน ที่จริงดุ๊ยดุ่ยไม่ได้เป็นชื่อว่าวแต่เป็นส่วนที่เรียกว่าทำเสียง เพียงแต่ในว่าวชนิดอื่น ๆ ไม่นิยมติดอุปกรณ์ตัวนี้

ส่วนประกอบของดุ๊ยดุ่ย

          ส่วนที่เป็นคันธนู จะทำจากไม้ไผ่แก่จัดมีความยาวไม่ต่ำกว่า 1.20 ม. เหลาหัวท้ายให้เรียว ลักษณะเป็นท้องปลิง ลนไฟแล้วดัดให้ตรง หันส่วนที่เป็นผิวไม้ออกด้านนอก ลนไฟให้ส่วนปลายทั้งสองข้างโค้งเล็กน้อย และทำหยักบริเวณปลายทั้งสองข้างให้เป็นเดือยยาวประมาณ 1 ซม. ใช้กระดาษทรายขัดเพื่อลบคมออก

          ส่วนใบของดุ๊ยดุ่ย โดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นใบลานเพราะเนื้อเหนียว ควรเลือกใบที่สมบูรณ์ นำมาตากให้แห้ง ตัดให้มีความกว้างประมาณ 10 มม. ยาวประมาณ 90 ซม. ใช้ตะปูตอกยึดหัวท้ายไว้ นำไม้บรรทัดกดทับแล้วกรีดด้วยคัดเตอร์

          ส่วนสายรั้ง นิยมใช้เป็นสายป่าน เนื่องจากมีความเหนี่ยวและน้ำหนักเบา พลิ้วไหวได้ดี ยาวข้างละประมาณ 30 ซม.  ถ้าหากสั้นเสียงจะดังถี่  ถ้าสายยาวเสียงจะดังยาวกว่า  และถ้าเส้นเล็กเกินไปจะขาดง่าย ส่วนถ้าเส้นใหญ่เกินไปจะทำให้มีน้ำหนักเยอะเคลื่อนไหวได้ไม่ดี

          ขึ้ผึ้งแท้ หรือขี้สูด สำหรับติดถ่วงส่วนหัวทั้งสองข้างของใบดุ๊ยดุ่ย เพื่อไว้สำหรับปรับเสียง ป้องกันการเกินขนที่สายเป็นการยืดอายุการใช้งาน

วิธีการประกอบ

การผูกควรใช้เป็นเงื่อนตะกรุดเบ็ดพันหลาย ๆ รอบ ขึ้นสายให้ตึงแล้วใช้กระดาษทรายขัดแต่งใบทั้งส่วนผิวและขอบอย่าให้มีติดขน ระวังอย่าให้ใบบิดเบี้ยว ถ้าใบไม่เรียบใช้เตารีดไฟอ่อนรีดให้เรียบ

การทำดุ๊ยดุ่ยอย่างพิถีพิถันจะช่วยทำให้ว่าวที่ติดดุ๊ยดุ่ยมีเสน่ห์ทางเสียงมากยิ่งขึ้น และหากเป็นว่าวที่ต้องแข่งขันด้วยเสียงแล้ว ดุ๊ยดุ่ยยิ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนักในการจะเอาชนะคู่แข่ง