post

ว่าวควายเอกลักษณ์แห่งตำนานเมืองสตูล ที่อยู่คู่แดนใต้มายาวนาน


สตูลเป็นเมืองที่มีคำขวัญว่า “สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์”  ซึ่งคำขวัญนี้เมื่ออ่านแล้วกลับมองได้เห็นภาพถึงสิ่งที่เขียนได้ในทันที การดำรงชีพท่ามกลางธรรมชาติอย่างพอเพียงทำให้สตูลเป็นอีกเมืองที่น่าค้นหา นอกจากธรรมชาติแล้ว สตูลยังมีประเพณีที่น่าสนใจอีกอย่างคือ งานว่าวประเพณี โดยความเป็นมาของงานแข่งขันว่าวนั้นมีมาตั้งแต่ ปี 2519 ซึ่งได้จัดขึ้นที่สนามบินจังหวัดสตูล และมีงานต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลได้ให้ความสำคัญกับประเพณีนี้เป็นอย่างดี ด้วยเห็นคุณค่าในว่าวไทย และน่าจะเป็นส่วนที่จะทำให้สตูลเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการเชื้อเชิญนักว่าวจากทั่วประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมงาน 

“ว่าวควาย” เป็นว่าวอีกแบบที่เป็นที่นิยม และเหมือนจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสตูลไปเสียแล้ว หรือเปรียบเสมือนว่าวดุ๊ยดุ่ยของภาคใต้ตอนบน ถึงแม้ที่จริงแล้วก็มีว่าวในรูปแบบอื่นอยู่ด้วยก็ตาม และปัจจุบันว่าวควายได้เป็นที่รู้จักทั่วไป ว่าวหัวควาย หรือว่าวควายเป็นว่าวที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างว่าวหลา หรือว่าวจุฬา กับว่าววงเดือน โดยเปลี่ยนจากวงเดือนเป็นรูปหัวควายแทน และติดแอกด้วย โดยสมัยก่อนสตูลใช้ควายไถนาพอไถเสร็จก็ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็นั่งเลี้ยงควาย ดูแลควายและคิดจะตอบแทนบุญคุณควาย จึงได้ความคิดการทำว่าวเป็นรูปหัวควาย เหมือนควายกำลังก้ม ว่าวควายเป็นว่าวที่ถือว่าสมบูรณ์แบบ เพราะมีหัว มีหู มีจมูก มีเสียง การทำว่าวควายที่ดีต้องทำจากไม้ไผ่สีสุกเท่านั้น และควรเป็นไผ่ที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป ไผ่แก่เกินไปก็ไม่ดี อ่อนเกินไปก็ไม่ดี

ลักษณะของว่าวควาย

ว่าวควายจะมีรูปลักษณ์ตอนบนมีปีกโค้ง ตอนล่างทำโครงเป็นรูปร่างหัวควาย มีเขายาวโค้งรับกับปีกบน ความยาวของปีกจะมีขนาดต่ำสุดประมาณ 1.20 เมตร ส่วนหัวจะติดแอกเพื่อให้เกิดเสียงดังคล้ายเสียงของควาย ทำจากกระดาษฟางซึ่งตอนนี้หาได้ยากขึ้น โดยว่าวควายเมื่อถูกปล่อยขึ้นฟ้าแล้วต้องส่าย ถ้าไม่ส่าย แสดงว่าใช้ไม่ได้ เพราะว่าวควายเป็นว่าวที่เลียนแบบควาย ด้วยเพราะลักษณะของควายเวลากินหญ้าจะชอบส่ายหัวไปมา

การแข่งขัน

การแข่งขันจะมีหลายประเภท จะวัดกันเมื่อนำเชือกมาผูกหลักเหมือนเวลาเรานำควายไปผูกปลักให้กินหญ้า การเหวี่ยงซ้ายขวาต้องเท่า ๆ กัน ถ้าแข่งแบบประเภทความสูงก็จะมีความสูงที่ 90 องศา ตัวไหนถึง 90 องศาก่อนก็จะชนะไป                

สตูลถือได้ว่าเป็นจังหวัดแรกเริ่มในการทำว่าวควายและนำมาใช้แข่งขันเป็นแบบประเภทเสียงดังไพเราะ และมีการดูลักษณะการลอยตัวของว่าว โดยถือเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนว่าวอื่น