post

ไปดูคนไทยเค้าเล่นว่าวกันช่วงไหนกันบ้าง


ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตลมมรสุม ทำให้กีฬาเล่นว่าวที่มีมาแต่ช้านานแล้วนั้นเป็นที่นิยมกันทุกภาคของประเทศไทย และทุกชนชั้นนับตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงคนสามัญทั่วไป แล้วยังใช้ประโยชน์อื่น ๆ จากว่าว นอกจากความเพลิดเพลินอีกด้วย โอกาสสำหรับการเล่นว่าวไม่ได้อำนวยให้เสมอ หากแต่มีฤดูกาลของมัน แน่นอนจะเล่นว่าวให้สนุกต้องดูเรื่องของกระแสลม

กระแสลมจะมีอยู่ 2 ระยะ คือ

          ฤดูหนาว

ลมจะทำการพัดจากผืนแผ่นดินเพื่อลงสู่ท้องทะเล คือ จะพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้คนทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะยังคงนิยมเล่นว่าวในหน้าหนาว ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์

          ฤดูร้อน

ในช่วงฤดูร้อน จะมีลมทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้จากทางทะเล พัดเข้าสู่ผืนแผ่นดิน หรือที่เราเรียกกันว่า ลมตะเภา ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูการเล่นว่าวของชาวภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งจะอยู่ในช่วงของเดือนมีนาคม ถึง เมษายน และมักจะนิยมเรียกกันว่า ลมว่าว

วิธีเล่นว่าวของไทย มีอยู่ 3 วิธี คือ

  1. การชักให้ว่าวลอยลมอยู่กับที่ เพื่อมองดูความสวยงามและความพลิ้วไหวของว่าว
  2. การบังคับว่าวให้เคลื่อนที่ไปมาตามความต้องการ เช่น ความสูงต่ำ การฉวัดเฉวียงไปมา และบางครั้งก็จะมีในเรื่องของเสียงเข้ามาสร้างความไพเราะ
  3. การต่อสู่แข่งขันกลางอากาศ

ทั้งนี้การเล่นว่าวใน 2 ชนิดแรกจะเน้นในเรื่องของความสวยงามตามท้องถิ่นและภูมิปัญญา โดยจะมี

หลายหลายรูปแบบแตกต่างกันไป ส่วนการเล่นว่าวในลำดับสุดท้ายจะยังคงนิยมกันมาจากอดีตจนปัจจุบันคือการแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้า ซึ่งว่าวจุฬาจะมีขนาดใหญ่กว่าว่าวปักเป้าถึง 2 เท่า โดยว่าวจุฬามีอาวุธคือ จำปา ส่วนว่าวปักเป้ามีอาวุธคือเหนียง ต่างคนต่างต้องเกี่ยวให้อีกฝ่ายร่วงตกลงมา ฝ่ายที่ยังคงอยู่บนท้องฟ้าจะเป็นฝ่ายชนะ นอกจากการแข่งขันว่าวแบบว่าวจุฬากับว่าวปักเป้านี้แล้ว ก็ยังมีการแข่งแบบอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ เช่น การชักว่าวแข่งความสูง การแข่งขันด้านความสวยงาม การแข่งขันเรื่องเสียงดัง เสียงไพเราะ เหมือนว่าวที่ติดดุ๊ยดุ่ย หรือติดแอก แบบของทางภาคใต้นั่นเอง

จะเห็นได้ว่าในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๑๓ กล่าวถึงการเล่นว่าวไว้ว่า “ปรากฏหลักฐานการเล่นว่าวว่ามีมาแต่กรุงสุโขทัย เป็นว่าวที่ส่งเสียงดังเวลาลอยอยู่ในอากาศ เรียกว่า “ว่าวหง่าว” ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ปรากฏตามหลักฐานของชาวต่างประเทศว่า “ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามปรากฏในท้องฟ้าทุกคืนตลอดเวลาระยะ 2  เดือน…” จากหลักฐานข้างต้นแสดงให้เห็นว่าชาวไทยรู้จักการเล่นว่าวมาไม่ต่ำกว่า 7๐๐ ปีแล้ว  และควรสืบสานและอนุรักษ์การเล่นว่าวของไทยให้คงอยู่ต่อไป