post

ศาสตร์และศิลป์สำหรับการเล่นว่าว เคล็ดลับที่ช่วยให้เล่นว่าวเก่งขึ้น

ถึงแม้ว่าใครหลายคนอาจจะมองว่าว่าวเป็นของเล่นที่เหมาะกับเด็ก แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็สามารถสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการเล่นว่าวได้เช่นกัน การเล่นว่าวไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีหลายสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เรามาดูกันดีกว่าว่าการเล่นว่าวให้สนุกและถูกวิธีตามหลักสากล มีอะไรบ้าง

เลือกอาวุธให้ถูกต้องเหมาะสม

รูปร่างของว่าวเหมาะสมกับความเร็วลมที่แตกต่างกันไป เช่น ว่าวที่มีรูปเพชรจะเหมาะกับสายลมที่มีความเร็วปานกลางและเหมาะสำหรับผู้ที่หัดเล่นว่าวใหม่ ๆ ในขณะที่ว่าวแบบกล่องจะเหมาะกับสายลมแรงและสายลมที่พัดอย่างสม่ำเสมอหรือผู้เล่นที่ค่อนข้างเชี่ยวชาญในการเล่นว่าวแล้ว และสำหรับว่าวแบบสามเหลี่ยม (Delta Kite) ก็เหมาะกับสายลมที่ชายหาด เหมาะกับมือใหม่เช่นเดียวกัน

การปล่อยให้ว่าวลอยขึ้นจากพื้น

นอกเหนือจากคนที่ต้องคอยคุมว่าวแล้ว การส่งว่าวให้ลอยขึ้นไปเหนือสายลมจะต้องมีเพื่อนที่คอยจับตัวว่าวเอาไว้หากสายลมที่มีความเร็วต่ำกว่า 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อช่วยส่งให้ว่าวลอยตัวอยู่เหนือกระแสลม (หรือสังเกตบริเวณที่มีใบไม้ลอยขึ้นจากพื้น) วิธีการที่จะช่วยให้ว่าวลอยตัวขึ้นไปเหนือกระแสลมอย่างถูกต้องก็คือ

  1. ค่อย ๆ ปล่อยสายป่านว่าวออกจากม้วนยาวประมาณ 12 เมตร โดยให้คนถือตัวว่าวเดินไปตามทิศทางลม
  2. คอยสังเกตสัญญาณที่ทำให้รู้ว่าสายลมพัดแรง เช่น ทรายที่ฟุ้งกระจาย ใบไม้ที่ดังกรอบแกรบ และวิ่งเข้าใส่สายลมทันที ขณะที่ให้เพื่อนปล่อยมือจากว่าว
  3. ห้ามปล่อยสายป่านว่าวออกมาเพิ่มจนกว่าว่าวจะสามารถลอยตัวนิ่ง สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เหนือกระแสลม

เลือกสถานที่ให้ถูกต้องและยืนให้ถูกที่

ควรเลือกสถานที่ที่เปิดโล่ง มีพื้นที่มากพอ เช่น สวนสาธารณะหรือชายหาดที่ไม่มีสิ่งกีดขวางเช่น สายไฟและตึกสูงอยู่ใกล้ ๆ เมื่อว่าวลอยขึ้นไปเหนือลมแล้วให้ยืนหันหน้าไปทางเดียวกับทิศทางลมและเดินถอยหลังระหว่างที่กำลังควบคุมสายป่านว่าว เพื่อจะได้มองเห็นว่าวได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เลือกสายป่านว่าวให้ยาว ยิ่งยาวยิ่งดี

ปกติแล้วสายป่านว่าวตามท้องตลาดจะมีความยาวประมาณ 37 เมตร แต่จริง ๆ แล้วหากเราต้องการจะเล่นว่าวอย่างจริงจัง สายป่านว่าวจะต้องมีความยาวถึง 300 เมตร ต้องไม่พันกันและต้องมีความเบายิ่งกว่าเชือกไนลอน (ความเบาของเชือกจะยิ่งมีผลเมื่อว่าวลอยสูงขึ้นไปบนฟ้า) ดังนั้นเราอาจจะจำเป็นต้องซื้อสายป่านว่าวเพิ่ม ที่นอกจากจะต้องยาวพอดีแล้ว ยังต้องมีความตึงที่เพียงพอ ไม่งั้นอาจจะทำให้ว่าวร่วงลงมาได้

เล่นว่าวให้ถูกต้อง

อย่าลืมคอยกระตุกสายป่านว่าวเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ว่าวสามารถคงตัวอยู่ในอากาศได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยทำให้ว่าวลอยสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อีกด้วย นอกจากนั้นสายป่านว่าวจะต้องตึงแต่พอดี ไม่หย่อนมากเกินไป ถ้าว่าวเริ่มร่วงลงมา ให้ดึงสายป่านว่าวกลับเข้าไปในแกนใหม่เล็กน้อย และค่อย ๆ กระตุกสายป่านว่าว ให้ว่าวลอยสูงขึ้นไปอีกครั้ง

post

ประโยชน์ของว่าวที่เราสัมผัสได้มากมายนานาประการ


ถึงแม้เราจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าว่าวเป็นกีฬาที่มีสืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่จะมีสักกี่คนที่คิดถึงเรื่องประโยชน์ของว่าว ที่นอกเหนือจากคิดว่าว่าวเป็นสิ่งที่ทำให้สนุกสนาน ทั้งที่จริงแล้วมันแฝงไปด้วยประโยชน์มากมายจนคุณต้องเหลียวกลับมามองแล้วค้นหาเพิ่มเติมถึงประโยชน์ข้ออื่น ๆ กันต่อ ๆ ไปอีก

ด้านสุขภาพ

ว่าวช่วยให้ผู้ชมได้ผ่อนคลาย ได้มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ส่วนผู้เล่นนั้นว่าวทำให้ดีต่อสุขภาพ เสริมสร้างกำลังกายให้แข็งแรงเพราะต้องใช้เรี่ยวแรงในการประคองสายป่านที่ต้านแรงลม และบางประเทศต้องใช้กำลังในการส่งว่าวยักษ์ขึ้นไปบนท้องฟ้า อีกทั้งเป็นการเพิ่มสติปัญญาในการวางแผนที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้ ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ และเพิ่มทักษะในด้านต่างๆของผู้ที่ทำว่าว ทำให้มีน้ำใจนักกีฬา รู้จัดการเข้ากลุ่มเข้าสังคม สนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ห่างจากเทคโนโลยีพวกคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือได้ในชั่วเวลาหนึ่ง เป็นการช่วยขัดเกลาจิตใจและสมอง

ด้านสังคมธุรกิจ

เป็นการเชื่อมโยงวัฒนธรรม แลกเปลี่ยน เจริญสัมพันธไมตรีต่อกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะในปัจจุบันมีหลายสถานที่ทั่วโลกที่ได้จัดให้มีงานว่าวนานาชาติขึ้น และยังเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเมื่อว่าวเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชื่นชมเอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น และยังเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับผู้คนมากมายหลายคนหลายชาติ ช่วยในการเสริมสร้างความสามัคคีเพราะบางแห่งต้องใช้ทีมงานช่วยเหลือกันในการจัดทำว่าว การเล่นว่าว การส่งว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า

ด้านการศึกษา

ว่าวเป็นตัวสอนทางด้านฟิสิกส์ ได้เป็นอย่างดี ด้วยการ เรียนรู้พลังและองค์ประกอบของอากาศ และทิศทางของลม  และว่าวยังมีประโยชน์ด้านพลังงานโดยประเทศเนเทอร์แลนด์ได้คิดค้นวิธีการควบคุมและนำเอาพนังงานลมมาใช้งานโดยโครงการแลดเดอร์ใลล์ได้ถือกำเนิดขึ้น และว่าวได้ถูกนำเอามาเป็นอุปกรณ์หลักในการทำงานครั้งนี้ เพื่อจะนำเอาพลังงานลมมาเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน

ด้านวัฒนธรรมประเพณี

การที่ว่าวแต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน ย่อมเป็นสิ่งที่จะแสดงได้อย่างชัดเจนถึงสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ว่าวตัวหนึ่งเกิดขึ้นมาได้ สร้างความเป็นเอกลักษณ์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ วิถีชีวิต และสืบทอดประเพณีจากรุ่นสู่รุ่นได้เป็นอย่างดี สร้างความเชื่อเพื่อสิ่งที่ดีงาม รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และโชคดี และบ้างเป็นการตอบแทนบุญคุณของสิ่งที่เราได้ใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ การเล่นว่าว และการชมว่าว ก็ไม่ได้เป็นการล่องลอยไปตามว่าวแบบไร้สติ หากแต่การเล่นว่าวและการชมว่าวอย่างมีสติทำให้เกิดประโยชน์มากมายต่างหาก

 

post

ดุ๊ยดุ่ย อุปกรณ์สร้างพลังเสียง ที่ทำให้ว่าวไทยไม่ไร้จิตวิญญาณ


ดุ๊ยดุ่ย เป็นชื่อเรียกของว่าวอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักไม่แพ้ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ที่เราคุ้นหู และว่าวดุ๊ยดุ่ย จะมีลักษณะคล้ายกับว่าวจุฬามาก หากแต่ว่าจะต่างกันตรงที่ว่า ดุ๊ยดุ่ยมีขากบเป็นรูปเดียวกับปีก ติดอยู่ซ้อนกัน ส่วนด้านบนจะใหญ่ แต่ด้านล่างจะเล็ก ตอนล่างสุดมีไม้ขวางอีกอันหนึ่ง สำหรับผูกหาง ซึ่งจะมีด้วยกันสองหางเพื่อช่วยในการทรงตัวในขณะที่ลอยอยู่ในอากาศ ที่ส่วนหัวของว่าวดุ๊ยดุ่ยจะผูกธนู หรือ สะนู หรือ อูด ซึ่งทางภาคใต้จะเรียกว่า แอก ซึ่งเป็นลักษณะคันเหมือนธนู ทำด้วยไม้ไผ่ เจาะรูให้เป็นสี่เหลี่ยม อยู่กลางคันให้พอดีกับเดือยสี่เหลี่ยมที่ยื่นออกมา ส่วนตัวกลางที่ทำให้เกิดเสียงนั้น ก็จะใช้ไม้ไผ่หรือหวาย เหลาให้เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วเอาปลายเชือกสองข้างผูกติดปลายเมื่อว่าวขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศ ไม้ไผ่หรือหวายแผ่นบาง ๆ ที่ถูกขึงอยู่นั้น เมื่อมีลมมาปะทะด้วย ก็จะทำให้เกิดเสียงดังตุ๋ยตุ่ย ตลอดเวลา ว่าวดุ๊ยดุ่ยจะเคลื่อนตัวช้า แต่สง่างาม และจะมีว่าวอีกชนิดที่คล้าย ๆ กับว่าวดุ๊ยดุ่ย คือ ว่าวสองห้อง ซึ่งอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ และพบมากในภาคอีสาน ที่จริงดุ๊ยดุ่ยไม่ได้เป็นชื่อว่าวแต่เป็นส่วนที่เรียกว่าทำเสียง เพียงแต่ในว่าวชนิดอื่น ๆ ไม่นิยมติดอุปกรณ์ตัวนี้

ส่วนประกอบของดุ๊ยดุ่ย

          ส่วนที่เป็นคันธนู จะทำจากไม้ไผ่แก่จัดมีความยาวไม่ต่ำกว่า 1.20 ม. เหลาหัวท้ายให้เรียว ลักษณะเป็นท้องปลิง ลนไฟแล้วดัดให้ตรง หันส่วนที่เป็นผิวไม้ออกด้านนอก ลนไฟให้ส่วนปลายทั้งสองข้างโค้งเล็กน้อย และทำหยักบริเวณปลายทั้งสองข้างให้เป็นเดือยยาวประมาณ 1 ซม. ใช้กระดาษทรายขัดเพื่อลบคมออก

          ส่วนใบของดุ๊ยดุ่ย โดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นใบลานเพราะเนื้อเหนียว ควรเลือกใบที่สมบูรณ์ นำมาตากให้แห้ง ตัดให้มีความกว้างประมาณ 10 มม. ยาวประมาณ 90 ซม. ใช้ตะปูตอกยึดหัวท้ายไว้ นำไม้บรรทัดกดทับแล้วกรีดด้วยคัดเตอร์

          ส่วนสายรั้ง นิยมใช้เป็นสายป่าน เนื่องจากมีความเหนี่ยวและน้ำหนักเบา พลิ้วไหวได้ดี ยาวข้างละประมาณ 30 ซม.  ถ้าหากสั้นเสียงจะดังถี่  ถ้าสายยาวเสียงจะดังยาวกว่า  และถ้าเส้นเล็กเกินไปจะขาดง่าย ส่วนถ้าเส้นใหญ่เกินไปจะทำให้มีน้ำหนักเยอะเคลื่อนไหวได้ไม่ดี

          ขึ้ผึ้งแท้ หรือขี้สูด สำหรับติดถ่วงส่วนหัวทั้งสองข้างของใบดุ๊ยดุ่ย เพื่อไว้สำหรับปรับเสียง ป้องกันการเกินขนที่สายเป็นการยืดอายุการใช้งาน

วิธีการประกอบ

การผูกควรใช้เป็นเงื่อนตะกรุดเบ็ดพันหลาย ๆ รอบ ขึ้นสายให้ตึงแล้วใช้กระดาษทรายขัดแต่งใบทั้งส่วนผิวและขอบอย่าให้มีติดขน ระวังอย่าให้ใบบิดเบี้ยว ถ้าใบไม่เรียบใช้เตารีดไฟอ่อนรีดให้เรียบ

การทำดุ๊ยดุ่ยอย่างพิถีพิถันจะช่วยทำให้ว่าวที่ติดดุ๊ยดุ่ยมีเสน่ห์ทางเสียงมากยิ่งขึ้น และหากเป็นว่าวที่ต้องแข่งขันด้วยเสียงแล้ว ดุ๊ยดุ่ยยิ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนักในการจะเอาชนะคู่แข่ง