post

แชมป์ว่าว เรื่องของว่าวกับสถิติโลก

ในยุคสมัยแห่งการแข่งขันอย่างในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเรื่องไหน ๆ ก็มักจะมีผู้ที่พยายามสร้างสถิติที่เหนือกว่าผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการเล่นว่าว และในบรรดาสถิติที่มีทั้งหมด นี่คือที่สุดของโลกเท่าที่เคยมีมา

ว่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

                หลายคนอาจเคยเห็นว่าวที่ใหญ่เท่าคนหรือแม้แต่เท่าบ้านมาก่อน แต่รู้หรือไม่ว่าว่าวใหญ่ที่สุดที่เคยบินขึ้นสู่ท้องฟ้าใหญ่มหึมากว่านั้นมาก ว่าวที่ว่าบินขึ้นสู่ท้องฟ้าในงานเทศกาลคูเวท ฮาลา (Kuwait Hala Festival) โดยมันมีหน้าตาเป็นรูปธงคูเวท ขนาดที่ถูกบันทึกเมื่อวางราบกับพื้นมีพื้นมีด้านกว้าง 25.475 เมตร ด้านยาว 40 เมตร มีพื้นรวม 1019 ตารางเมตร หากจะเทียบให้เห็นภาพชัด ๆ ก็ขนาดประมาณสนามบาส 2 สนาม ที่นำด้านยาวมาประกบกัน นอกจากนั้นว่าวดังกล่าวยังลอยอยู่บนอากาศได้นานถึง 20 นาทีเลยทีเดียว

ว่าวที่บินสูงที่สุดในโลก

                การทำให้ว่าวบินได้สูงที่สุดอาจเป็นเป้าหมายของใครหลายคนที่หยิบว่าวขึ้นมาเล่น แต่คงมีอยู่ไม่มากที่คิดจะพามันขึ้นไปสูงเท่ากับชายชาวออสเตรเลียที่มีชื่อว่าโรเบิร์ต มัวร์ (Robert Moore) โดยเขาทำได้สำเร็จหลังจากพยายามอยู่หลายครั้ง และบันทึกสถิติความสูงได้ถึง 4879.54 เมตร ความสูงดังกล่าวเป็นครึ่งหนึ่งของความสูงที่เครื่องบินจัมโบ้เจ็ทขึ้นไปถึงขณะบินส่งผู้โดยสารเลยทีเดียว

ว่าวที่บินเร็วที่สุดในโลก

                หากใครเป็นสิงห์นักบิดหรือบรรดานักแข่งยานพานพาหนะที่ใช้ความเร็วทั้งหลาย คงจะรู้ว่าความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั้นไม้น้อยเลยทีเดียว แต่รู้หรือไม่ว่ามีว่าวที่เคยบินด้วยความเร็วขนาดนี้ได้สำเร็จ โดยมันเป็นว่าวสตั้นท์แบบ 2 สาย ที่บังคับโดยชายที่ชื่อพีท ดิ จาโกโม (Pete Di Giacomo) ซึ่งเขาทำสถิตินี้ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1989

ว่าวที่บินได้นานที่สุดในโลก

                การจะทำให้ว่าวบินอยู่บนท้องฟ้าได้นานเป็นหนึ่งในสิ่งท้าทายอย่างมาก เพราะส่วนของตัวว่าวและเชือกว่าวต้องทนต่อลมแรงเป็นเวลานานโดยไม่ขาดได้ แต่รู้หรือไม่ว่าว่าวที่ถูกพัฒนาโดยทีมจากวิทยาลัยชุมชนเอ็ดมันด์ เคยบินค้างอยู่บนท้องฟ้าได้นานถึง 180 ชั่วโมง 17 นาที

ปล่อยว่าวขึ้นบินพร้อมกันมากที่สุดในโลก

                สำหรับคนที่เล่นว่าวเป็นงานอดิเรก การนำมันขึ้นบินแค่ตัวเดียวก็อาจเป็นเรื่องยากลำบากอยู่แล้ว แต่กับชายชาวจีนชื่อว่าหม่า ชิงหัว (Ma Qinghua) กลับเลือกที่จะทำมากกว่านั้น โดยเขานำว่าวขึ้นพร้อมกันทีเดียวมากถึง 43 ตัวพร้อมกัน ทั้งยังถือสายของว่าวทุกตัวด้วยตัวเองด้วย

ส่วนอีกสถิติหนึ่งเป็นของเด็กชายมัธยมต้นชาวญี่ปุ่น ซึ่งผูกว่าว 15,585 ตัว ไว้กับเชือกเส้นเดียว โดยเว้นระยะห่างตัวละ 28 เซนติเมตร จากนั้นก็นำพวกมันขึ้นบินพร้อมกันในครั้งเดียว 

                การพยายามสร้างสถิติโลกใหม่ ๆ เป็นเรื่องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมันท้าทายให้นักเล่นว่าวและนักพัฒนาว่าวมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลักการ ฝีมือ หรืออุปกรณ์สำหรับว่าวให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังนั้นหากใครอยากลองทำลายสถิติเหล่านี้ดูบ้างก็คงไม่เสียหายอะไร  แต่อย่าลืมที่จะสนุกไปกับมันด้วยล่ะ

post

ว่าว สายล่อฟ้าชิ้นแรกของมนุษยชาติ

หลายคนที่เคยเล่นว่าวคงจะรู้ดีว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่ให้ความบันเทิงเริงรมย์ในวันที่ฟ้าแจ่มใส ลมพัดเย็นสบาย โดยเฉพาะในฤดูร้อนและฤดูหนาว แต่คงมีน้อยคงนักที่จะหยิบมันมาเล่นในวันที่ฝนฟ้าคะนอง เพราะนอกจากว่าวจะเปียกจนลอยไม่ขึ้นแล้ว คนเล่นก็อาจถูกฟ้าผ่าจนไหม้เป็นตอตะโกไปเสียก่อน แต่รู้หรือไม่ว่าหนึ่งในการค้นพบครั้งสำคัญของมนุษยชาติเกิดขึ้นเพราะการเล่นว่าวกลางพายุฝน

ว่าวกับการทดลองกลางพายุฝน

                นับตั้งแต่โบราณมนุษย์รู้จักไฟฟ้ามาช้านานจากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะจากการถูกปลาไหลไฟฟ้าช็อต การที่ก้อนอัมพันสามารถดูดวัตถุเล็ก ๆ ได้หลังจากถูกับขนสัตว์ แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะนำสิ่งนี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร จะกักเก็บมันไว้ใช้ได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งไฟฟ้าและสายฟ้าที่เกิดขึ้นยามฝนตกเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่

                ในปีค.ศ. 1752 เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกาได้ทำการทดลองกักเก็บไฟฟ้า โดยการผูกกุญแจโลหะเข้ากับเชือกว่าวที่ทำจากใยป่านที่เปียกชุ่มกลางสายฝน ในขณะที่แฟรงคลินคอยถือเชือกที่ทำจากใยไหมอยู่ในเพิง แล้วปล่อยให้ว่าวลอยสูงขึ้นไปบนเมฆขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง

                เมื่อกุญแจโลหะซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้าอย่างดีลอยไฟใกล้กับก้อนเมฆซึ่งเต็มไปด้วยประจุไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าก็แล่นลงมาตามเชือกของว่าว จากนั้นก็ถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์กักเก็บไฟฟ้าที่เรียกว่าขวดแก้วไลเดน (Leyden jar)

                การทดลองเล่นว่าวกลางสายฝนนี้เองทำให้แฟรงคลินพิสูจน์ได้ว่าฟ้าผ่าและปรากฏการณ์ทางไฟฟ้าอื่น ๆ เป็นสิ่งเดียวกัน นอกจากนั้นยังนำไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า

ว่าวกับอันตรายจากฟ้าผ่า

                แม้ว่าเบนจามิน แฟรงคลินจะรอดจากการเล่นว่าวกลางสายฝนมาได้ เพราะพวกเขาใช้เชือกสองเส้น แต่ไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเท่าไหร่หากใครจะนึกสนุกอยากลองเล่นว่าวกลางสายฝนเหมือนกับเขาบ้าง

                ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเมื่อละอองน้ำในก้อนเมฆชนกันไปมา แล้วปลดปล่อยประจุลบหรืออิเล็กตรอนออกมา เมื่อประจุดังกล่าวสะสมเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนมาก ซึ่งมักเกิดขึ้นเวลามีพายุฝนฟ้าคะนอง ประจุลบเหล่านี้ก็มักวิ่งเข้าหาประจุบวก ซึ่งมีอยู่มหาศาลบนพื้นดิน เกิดเป็นปรากฏการณ์ฟ้าผ่า

แต่ประจุลบเหล่านี้ก็ชอบที่จะวิ่งเข้าหาประจุบวกที่อยู่ใกล้มากกว่าประจุบวกที่อยู่ไกล ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดฟ้าผ่าใส่วัตถุที่อยู่สูงหรือมียอดแหลม เช่น ต้นไม้ใหญ่ หรือยอดตึกสูงจึงมีมากกว่า ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงว่าวซึ่งลอยสูงเสียดฟ้าว่ามีโอกาสถูกฟ้าผ่าสูงขนาดไหน

                จากสถิติในประเทศไทยมีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่าตั้งแต่ปีพ.ศ.2554-2558 สูงถึง 154 คน เสียชีวิตสูงถึง 38 คน แม้จะดูเหมือนเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่ก็บอกได้ว่าอันตรายจากฟ้าผ่ามีมากแค่ไหน ดังนั้นสำหรับคนที่ชื่นชอบการเล่นว่าวแล้ว ควรจะระมัดระวังให้ดี อย่าได้ริลองเล่นว่าวเวลาฝนตกเป็นอันขาดเชียว

post

ทำไมว่าวถึงลอยขึ้นไปบนฟ้าได้?

จริง ๆ แล้วว่าวถือว่าเป็นเครื่องบินชนิดหนึ่งที่ไม่มีเครื่องยนต์ ดังนั้นจึงต้องใช้แรงลมมาช่วยให้ว่าวสามารถบินขึ้นไปบนฟ้าได้ ตัวว่าวจะถูกยึดติดกับพื้นด้วยสายป่าน เมื่อว่าวถูกสายลมพัดพาให้ลอยออกไปจนสุดสายป่านแล้ว จึงจะสามารถลอยขึ้นไปบนฟ้าได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากสายป่านจะช่วยให้ว่าวลอยขึ้นไปเมื่อตัวว่าวกระทบกับแรงลมแล้ว ยังสามารถช่วยไม่ให้ว่าวลอยหายไปกับสายลมได้อีกด้วย

ปัจจัยที่ทำให้ว่าวลอยสามารถบินได้

ปัจจัยที่ทำให้ว่าวสามารถบินได้มีทั้งหมด 4 ปัจจัย นั่นก็คือ แรงโน้มถ่วง แรงยก แรงขับและแรงต้าน

แรงโน้มถ่วงจะดึงทุกอย่างเข้าสู่แกนกลางของโลก ทำให้วัตถุต่าง ๆ ตกลงบนพื้น ด้วยกฏของแรงโน้มถ่วงนี้ทำให้ยิ่งว่าวมีน้ำหนักเท่าไหร่ ก็จะบินขึ้นฟ้าได้ยากเท่านั้น ว่าวส่วนมากจึงทำจากวัตถุที่มีน้ำหนักเบา ทำให้สามารถบินได้ง่ายขึ้น

เหตุผลที่ทำให้ว่าวสามารถลอยขึ้นไปบนอากาศได้

กฏที่ช่วยไม่ให้ว่าวตกลงมาสู่พื้นก็คือปัจจัยที่เรียกว่า “แรงยก” ซึ่งแรงยกนี้จะดันว่าวให้ห่างจากพื้นโลก แรงยกนี้จะเกิดขึ้นเมื่อแรงลมที่พัดเหนือว่าวมีความเร็วมากกว่าแรงลมที่พัดใต้ว่าว นักวิทยาศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่ชื่อ Daniel Bernoulli ได้ค้นพบความกดอากาศจะลดน้อยลงในระหว่างที่อากาศกำลังเคลื่อนที่ ยิ่งอากาศเคลื่อนที่เร็วเท่าไหร่ ความกดอากาศก็จะยิ่งลดลงเท่านั้น เมื่อลมผ่านตัวว่าว ลมที่ลงไปด้านล่างของว่าวจะเคลื่อนที่ช้ากว่าลมพัดที่ขึ้นไปบนด้านบนของว่าว

ยิ่งแรงลมที่พัดเหนือว่าวมีความเร็วมากเท่าไหร่ แรงกดอากาศก็จะยิ่งลดต่ำลงเท่านั้น เมื่อแรงกดอากาศด้านบนว่าวลดต่ำลง แรงกดอากาศด้านล่างของว่าวจะดันตัวว่าวขึ้นไปเพื่อจะทำให้แรงกดอากาศทั้งด้านบนและด้านล่างของว่าวเท่ากัน ยิ่งด้านบนและด้านล่างของว่าวมีความกดอากาศที่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ ว่าวก็จะลอยตัวในอากาศได้ดีขึ้นเท่านั้นเพราะมีแรงยกช่วยนั่นเอง

ในขณะที่นกบินได้เพราะแรงตีของปีก เครื่องบินก็ใช้เครื่องยนต์ในการดันอากาศไปทางด้านหลังอย่างรวดเร็วจนทำให้เครื่องบินสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ เราจะเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้ทั้งนกและเครื่องบินวิ่งผ่านอากาศไปด้านหน้าอย่างรวดเร็วก็คือแรงขับ ยกตัวอย่างในกรณีของนกที่ใช้พลังของกล้ามเนื้อในการสร้างแรงขับขึ้นมา ส่วนว่าวไม่สามารถสร้างแรงขับเองได้ เมื่อว่าวถูกสายลมพัดให้ปลิวไป จึงต้องอาศัยสายป่านในการยึดให้ว่าวอยู่กับที่และสวนทางกับสายลม จึงจะสามารถค่อย ๆ เกิดแรงขับขึ้นเพื่อขับตัวเองขึ้นไปบนอากาศได้

จริง ๆ แล้วหากไม่มีสายลมที่แรงพอเพื่อที่จะดันให้ว่าวลอยขึ้นไปบนอากาศได้ เราก็สามารถวิ่งเร็ว ๆ ต้านกระลมแทนก็ได้ แต่อาจจะต้องใช้เพื่อนอีกคนที่ช่วยจับว่าวอยู่อีกด้านหนึ่งเพื่อเป็นแรงส่ง ทำให้ว่าวสามารถลอยขึ้นไปได้ง่ายขึ้น

post

เรื่องราวน่าสนุกของการแข่งว่าว ที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน

การแข่งว่าวเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในประเทศแถบเอเชีย เช่น บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ไทย เกาหลีและอัฟกานิสถาน โดยการแข่งว่าวถือเป็นกีฬาที่ตื่นเต้นผาดโผนและมีการใช้ว่าวเป็นอุปกรณ์สำคัญในการแข่งขัน

ว่าวสำหรับการแข่งขันจะต้องเป็นว่าวที่มีน้ำหนักเบาและทำจากกระดาษบาง ๆ ตัวโครงว่าทำจากไม้ที่มีความยืดหยุ่นและมีน้ำหนักเบาเช่นกัน ส่วนมากมักทำมาจากไม่ไผ่

นอกจากทวีปเอเชียแล้ว อเมริกาเองก็มีการแข่งว่าวเช่นเดียวกัน โดยวัสดุที่นำมาทำว่าวส่วนมากจะเป็นวัสดุสังเคราะห์ เช่น แผ่นไนลอนและโพลีเอสเตอร์ เป็นต้น

สายป่านเป็นกุญแจสำคัญในการทรงตัวของว่าว

เมื่อว่าวลอยขึ้นไปในอากาศ ความกดอากาศจะทำให้ว่าวเปลี่ยนรูปไป อีกทั้งยังทำให้ตัวว่าวทรงตัวได้อย่างเสถียร เมื่อสายป่านว่าวเริ่มหย่อน ว่าวจะไม่เสถียร หากเราปล่อยสายป่านว่าวออกมามากขึ้นก็จะยิ่งทำให้สายป่านว่าวหย่อน หากว่าวทรงตัวไม่ดีก็จะทำให้ตัวว่าวหมุนเคว้งไปกับลม หากสายป่านตึง ก็จะทำให้

เมื่อว่าวลอยตัวสูงขึ้นไปในอากาศ ความกดอากาศด้านบนจะทำให้ว่าวเสียรูปไปก็จริง แต่ก็จะส่งผลให้ว่าวสามารถคงตัวได้ดีบนอากาศ นอกเหนือจากความกดอากาศแล้ว ความตึงของสายป่านก็สำคัญในการทรงตัวของว่าว หากผู้เล่นปล่อยเชือกสายป่านออกมามากเกินไปจนสายป่านว่าวหย่อน ก็จะทำให้ว่าวหมุนเคว้งในอากาศได้ ดังนั้นจึงควรคุมสายป่านว่าวให้ตึงอยู่เสมอ เมื่อสายป่านว่าวตึงแล้ว ผู้เล่นก็จะสามารถควบคุมทิศทางของว่าวได้ดีขึ้น

กฏของการการแข่งว่าว

การแข่งว่าวมีกฏคือผู้เข้าแข่งขันต้องตัดสายป่านของว่าวฝั่งตรงข้ามให้ขาด สามารถแข่งได้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สามารถแข่งได้ทั้งผู้เล่นแบบเดี่ยวหรือแบบทีม โดยผู้ที่สามารถควบคุมว่าวของตนเองให้ลอยอยู่บนอากาศได้เป็นคนสุดท้ายของการแข่งขันก็คือผู้ชนะ จริง ๆ แล้วการแข่งว่าวถือเป็นการแข่งขันที่ค่อนข้างอันตรายเพราะว่าสายป่านว่าวมีความคมมากจนสามารถตัดคอมนุษย์ให้ขาดได้เลย

การแข่งว่าวในประวัติศาสตร์

นอกจากว่าวจะมีความผูกพันกับชาวโพลีเชี่ยนที่อาศัยอยู่ในเขตโอเชียเนีย มหาสมุทรแปซิฟิก จากตำนานเทพเจ้าพี่น้องทั้ง 2 องค์ที่เคยแนะนำให้มนุษย์รู้จักการใช้ว่าวในการต่อสู้กัน ชาวมาเลย์ในยุคแรก ๆ หรือช่วงประมาณศตวรรษที่ 15 ของจดหมายเหตุมาเลย์ ได้บันทึกเรื่องราวของเจ้าชาย Rajah Ahmad ซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ในสุลต่าน Mahmud แห่งมะละกา ได้เคยใช้ว่าวขนาดใหญ่ตัดสายป่ายและเอาชนะว่าวทุกตัวด้วยการตัดบินโฉบเพียงครั้งเดียว เนื่องจากพระองค์ได้ใช้สายเอ็นตกปลามาทำเป็นสายป่านว่าว สายป่านว่าวจึงคมและมีความแข็งแรงมาก วันต่อมา เจ้าชาย Rajah เข้าร่วมการแข่งขันเช่นเดิม แต่คราวนี้ถูกว่าวที่เล็กกว่าของ Hang Isa Pantas ที่ได้ทาแก้วที่ป่นเป็นผงกับยางเหนียว ๆ จากในป่าเอาไว้ที่สายป่านของตนเอง เมื่อว่าวของเจ้าชายพยายามตัดสายป่านว่าวของ Hang Isa Pantas ว่าวของเจ้าชายจึงขาดออกและร่วงลงพื้นทันที

post

ว่าว Box Kite ว่าวสวย ๆ ที่ทำไม่ยาก

ว่าว Box Kite หรือเรียกอีกอย่างว่า ว่าวกล่อง เป็นว่าวอีกรูปแบบหนึ่งที่มีรูปทรงและขนาดมากมายหลากหลาย แต่ต่างก็มีพื้นฐานรูปแบบเดียวกันคือเป็นรูปทรงเหลี่ยมคล้ายกับกล่อง โดยว่าวกล่องถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการเอาออกมาเล่นในช่วงกลางวันที่มีลมแรงเป็นพิเศษและมีท้องฟ้าแจ่มใสปลอดโปร่ง ด้วยความที่มีสายป่านว่าวทั้งหมด 4 สายผูกไว้ตามแต่ละด้านของว่าวก่อนจะลงมารวมกันเป็นสายป่านสายเดียวสำหรับให้ผู้เล่นควบคุม มีการเปิดปลายด้านแต่ละด้านของว่าวและเปิดพื้นที่ตรงกลางของว่าวเอาไว้ให้ลมผ่านได้อย่างสะดวก นอกจากนั้นความสนุกของการทำว่าวกล่องคือด้วยความที่เป็นรูปทรงแบบกล่องนี้เองทำให้ว่าวกล่องสามารถถูกออกแบบมาให้เป็นรูปทรง 3 มิติได้ ยกตัวอย่างลักษณะการออกแบบว่าวกล่องที่ได้รับความนิยมเช่น ทรงสามเหลี่ยม ดวงดาว หรือเกล็ดน้ำแข็ง เป็นต้น

อุปกรณ์สำหรับทำว่าวกล่อง

  1. เดือยไม้ ยาว 36 นิ้ว จำนวน 4 ชิ้น
  2. เดือยไม้ ยาว 14 นิ้ว จำนวน 4 ชิ้น
  3. เชือก
  4. กรรไกร
  5. พลาสติกแรป
  6. เทปหนังไก่
  7. มีดคัทเตอร์
  8. ดินสอ

วิธีการทำว่าวกล่อง

  1. ตัดปลายของไม้แต่ละชิ้นให้เป็นรูปตัว V โดยใช้คัทเตอร์ เพื่อที่จะล็อคให้เดือยแต่ละด้านเชื่อมต่อกัน
  2. จากนั้นนำเดือยไม้ขนาด 14 นิ้วไขว้กันเป็นรูปตัว X ให้ได้มุมเท่ากัน ก่อนจะใช้เทปหนังไก่หรือเชือกเชื่อมตรงจุดที่เดือยไม้ทั้งสองตัดกันให้แน่นหนาที่สุด
  3. นำเดือยไม้อีก 2 แท่งที่เหลือมาทำอย่างเดียวกัน
  4. นำเดือยไม้ยาว 36 นิ้ว จำนวน 4 ชิ้นเชื่อมกับปลายไม้ตัว X ทั้ง 2 ตัวเข้าไว้ด้วยกัน โดยให้เดือยไม้ยื่นออกไปนอกตัว X ด้านละ 8 นิ้ว
  5. วางว่าวลงกับพื้น ก่อนจะใช้ พลาสติกแรป พันทั้งด้านบนและด้านล่างของกล่องประมาณ 10 นิ้ว โดยเปิดปลายของกล่องทั้งสองด้าน และเปิดพื้นที่ตรงกลางของกล่องที่มีความยาว 16 นิ้วเอาไว้
  6. นำสายป่านว่าวผูกที่ตรงจุดเชื่อมของตัว X กับด้านไม้ยาวที่ด้านหนึ่งของกล่อง ทั้งหมด 4 เส้น ก่อนจะนำมารวมกันเป็นสายป่านว่าวสายเดียว โดยสายป่านควรจะมีความยาวประมาณ 6 เมตร
  7. ตกแต่งว่าวกล่องตามใจชอบ

แน่นอนว่าขนาดและรูปทรงของว่าวกล่องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของผู้ทำว่าว แต่หากเป็นมือใหม่ก็ควรจะทำตามคำแนะนำนี้ไปก่อน จนกว่าจะทำความเข้าใจศาสตร์ของ aerodynamics หรือ อากาศพลศาสตร์ ดีแล้ว จึงจะสามารถปรับขนาดและรูปทรงของว่าวกล่องได้ตามใจชอบได้ เพื่อให้ว่าวสามารถลอยขึ้นไปบนอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การทำว่าวกล่องนั้นแม้จะซับซ้อนสักหน่อย แต่จริง ๆ แล้วทำไม่ยากเลย สามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ก็หาง่าย ใช้เวลาเพียงไม่นานก็จะได้ว่าวกล่องที่สวยแปลกไม่เหมือนใครไปเล่นข้างนอกบ้านในวันที่มีลมแรงกับครอบครัวหรือเพื่อนแล้วล่ะ

post

ว่าวแบบ Flat Kite คืออะไร? มาทำความรู้จักกัน

ว่าวแบบ Flat เป็นว่าวพื้นฐานที่สามารถทำได้ง่ายและไม่ซับซ้อน โดยเป็นว่าวชั้นเดียว มีกล่องและสายป่านว่าวที่ช่วยให้ว่าวสามารถลอยขึ้นไปบนอากาศได้อย่างสมดุล อาจจะมีการเพิ่มหาง กระดูกงูหรือช่องรับลมให้ว่าวแบบ Flat ทรงตัวได้ดีขึ้นและมีความสวยงามมากขึ้น ด้วยความที่ว่าวแบบ Flat เป็นว่าวรูปแบบดั้งเดิม จึงได้มีการต่อยอดออกเป็นว่าวที่มีรูปทรงมากมายหลากหลาย หนึ่งรูปทรงที่เป็นที่นิยมมาก ๆ ก็คือว่าวทรงเพชร ว่าว Della Porta ที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมฉากจากทางตะวันตก ส่วนว่าวแบบ Flat อีกรูปแบบหนึ่งก็คือทรง Arch top จากประเทศอังกฤษที่มีรูปทรงคล้ายเพชรแต่ด้านหัวของว่าวจะเป็นทรงมนครึ่งวงกลมแทน

วิธีการทำว่าวแบบ Flat อย่างง่าย ๆ

  1. สร้างกรอบว่าว

ก่อนอื่นเราต้องสร้างกรอบว่าวด้วยไม้ที่มีความยาว 20 ซม. และไม้ที่มีความยาว 61 ซม. มาไขว้กันเป็นรูปตัว T พิมพ์เล็ก แต่หากอยากได้ว่าวที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ ก็สามารถเลือกไม้ที่มีความยาวมากขึ้นได้ โดยไม้ด้านสั้นจะต้องสั้นกว่าด้านยาวประมาณ 10 ซม. เพื่อให้กรอบว่าวออกมาสมดุล จากนั้นก็ทำให้ไม้ทั้ง 2 แท่งยึดติดกันด้วยการใช้กาวหรือผูกเชือก และบากมุมของไม้ทั้ง 4 ด้านให้มีร่องสำหรับมัดเชือกเพื่อล้อมกรอบว่าวให้เป็นรูปเพชร (ไม้ 1 ด้านจะถูกบาก 2 รอย ที่ด้านบนและด้านล่างของไม้)

  1. วัดและตัดกระดาษว่าว

เราสามารถใช้วัสดุมากมายที่มีน้ำหนักเบามาทำเป็นกระดาษว่าวได้ เช่น กระดาษสาหรือพลาสติกที่มีมีความกว้างขนาด 100 ซม. เราจะทำการวัดกระดาษหรือพลาสติกสำหรับทำว่าวด้วยการวางว่าวที่เราทำกรอบเอาไว้แล้วบนกระดาษหรือพลาสติกดังกล่าว และใช้ไม้บรรทัดกับปากกา วาดลงบนกะดาษตามกรอบว่าว ก่อนจะใช้กรรไกรตัดให้เลยออกมาจากกรอบที่เราวาดไว้ประมาณ 5.1 ซม. เพื่อให้เรามีกระดาษหรือพลาสติกเหลือในการห่อรอบกรอบว่าว

  1. ประกอบว่าว

วางกรอบว่าวลงบนกลางกระดาษ ก่อนจะค่อย ๆ ห่อกระดาษหรือพลาสติกว่าวเข้ามาครอบกรอบว่าวและใช้กาวหรือเทปกาวยึดให้กระดาษติดกัน

  1. ติดสายป่านว่าว

เจาะด้านหน้าของว่าว ตรงที่แท่งไม้ไขว้กัน เพื่อใส่สายป่านว่าวลอดเข้าไปผูกติดกับกรอบว่าวด้านหลัง  ทำให้สายป่านว่าวติดกับตัวว่ายได้ดีขึ้น หรือจะเพิ่มสายป่านว่าวผูกกับด้านมุมขวา มุมซ้ายและด้านบนของว่าวในแนวตั้ง จากนั้นก็นำสายทั้ง 4 สายมามัดรวมกันตรงกลางโดยเว้นระยะห่างออกมาจากตัวว่าวนิดหน่อย เพื่อทำให้ว่าวทรงตัวได้ดีขึ้นบนสายลมด้วยก็ได้

นอกจากนั้น เรายังสามารถติดหางโบว์ให้ว่าวแบบ Flat ของเราดูสมบูรณ์แบบมากขึ้นได้อีกด้วย โดยการใช้ผ้าที่มีความเบายาว 1 เส้น และผ้าสั้น ๆ สำหรับผูกโบว์ตามผ้ายาว จากนั้นก็ติดผ้ายาวเข้าไปที่ด้านล่างของว่าว เพียงแค่นี้ว่าวของเราก็จะน่ารักขึ้นมาแล้ว ทำง่ายขนาดนี้ อย่าลืมลองชวนเพื่อน ๆ หรือคนในครอบครัวมาทำว่าวไปเล่นกันในวันหยุดนี้นะ รับรองว่าสนุกแน่นอน

post

พื้นฐานของการออกแบบว่าวแบบสากล

แม้ว่าว่าวแบบสามเหลี่ยมอันแสนคลาสสิคยังเป็นที่นิยมอยู่ แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ทำให้มีว่าวมากมายหลากหลายรูปแบบที่ออกแบบมาสำหรับวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป เช่น ว่าวที่มีรูปทรงเหมือนกล่อง ว่าวรูปทรงกระบอก ว่าวรูปปลาหมึก ว่าวพาราฟอล์ย หรือว่าวรูปเรือ เป็นต้น เรียกได้ว่าทุกสิ่งที่เราเคยเห็นสามารถนำมาออกแบบเป็นว่าวได้ทั้งหมด สาเหตุที่มีรูปแบบว่าวมากขนาดนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อแค่สร้างความบันเทิงอย่างเดียว แต่ว่าวยังสามารถถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาอีกด้วย เรียกได้ว่าว่าวที่เต็มไปด้วยสีสันและรูปทรงอันเต็มไปด้วยจินตนาการก็ช่วยทำให้ว่าวสามารถเอาชนะคู่แข่งและทำผู้ชมเพลิดเพลินได้ในเวลาเดียวกัน มาดูกันดีกว่าว่าเราสามารถแบ่งประเภทพื้นฐานว่าวสากลได้อย่างไรบ้าง และว่าวแต่ละชนิดสามารถลอยขึ้นไปบนฟ้าได้อย่างไร

  1. ว่าวสายเดี่ยว (Single Line Kites)

ว่าวสายเดี่ยวก็คือว่าวที่มีสายป่านว่าวเส้นเดียวผูกกับตัวว่าว สามารถลอยขึ้นไปบนอากาศได้ง่ายกว่าว่าวชนิดอื่น อีกทั้งยังทำไม่ยากและราคาไม่แพง ว่าวสายเดี่ยวนี้มีทั้งว่าวแบบแบนที่มีชั้นเดียว หรือว่าวที่ประกอบกันด้วยชั้นหลายชั้น ซึ่งอาจจะโยงด้วยสายป่านหลายสาย แต่สายป่านหลายสายนั้นจะต้องมารวมกันเป็นสายเดียวลงมาเสมอ (bridle point) ซึ่งจุดรวมกันของสายป่านว่าว (bridle point) นี้สามารถปรับขึ้นเพื่อให้ว่าวสามารถลอยได้ดีในวันที่มีลมเล็กน้อย หากมีลมแรงก็สามารถปรับลงมาเพื่อให้ว่าวสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น  ปัจจุบันมีการออกแบบลวดลายว่าวสายเดี่ยว (Single Line Kites) ออกมามากมาย ตั้งแต่ขนาดเล็ก ๆ ไปจนถึงขนาดใหญ่ถึง 3 เมตรเลยทีเดียว

  1. ว่าวสายคู่ (Dual Line Kites)

ว่าวสายคู่ (Dual Line Kites) ถูกออกแบบมาให้ผู้ควบคุมว่าวสามารถคุมการเคลื่อนไหวของว่าวบนอากาศได้ดียิ่งขึ้น ผู้เล่นจะต้องฝึกและเรียนรู้การควบคุมว่าวแบบสายป่านคู่นี้สักระยะหนึ่งก่อน เพราะมีความยากง่ายต่างกับว่าวแบบสายเดี่ยวอยู่เล็กน้อย หลัก ๆ แล้วผู้เล่นเพียงแค่ต้องจับสายป่านว่าวให้แน่นกว่าปกติเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดสายอะไรให้วุ่นวายเพิ่มเติมอีก ส่วนมากว่าวแบบสายคู่มักจะใช้ในการประลองว่าวหรือการเล่นว่าวแบบผาดโผน เพราะว่าวแบบนี้จะสามารถเคลื่อนไหวได้ไวมาก บางครั้งสามารถแล่นไปได้เร็วกว่า 50 เมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว

  1. ว่าวสี่สาย (Quad Line Kites)

เช่นเดียวกับว่าวสายคู่ ว่าวสี่สาย (Quad Line Kites) ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้เล่นสามารถควบคุมว่าวของตัวเองได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยว่าวแบบนี้มักจะมีสายป่านว่าว 4 สาย แบ่งเป็นด้านขวา 2 สายและด้านซ้ายอีก 2 สาย และต้องใช้ด้ามจับหรือด้ามควบคุมเพื่อช่วยในการควบคุมว่าว โดย 2 สายแรกจะอยู่ด้านบนของว่าว ส่วนอีก 2 สายจะอยู่ด้านล่าง ในส่วนของด้านล่างจะเสมือนเป็นตัวเบรกของว่าว ทำให้ว่าวแล่นช้าลง

ข้อดีของว่าวแบบนี้คือสามารถควบคุมความเร็วของว่าวได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังทำให้ว่าวลงจอดได้ง่ายกว่าว่าวชนิดอื่น เหมาะกับการเล่นว่าวผาดโผนและการประลองว่าว

post

เรื่องราวของว่าวในสายลมของสงคราม

นอกจากว่าวจะเป็นอุปกรณ์การละเล่นที่สร้างความสนุกสนาน เหมาะกับทุกเพศทุกวัย และมีประวัติศาสตร์อยู่ทั่วโลกแล้ว ยังมีบันทึกที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนในอดีตยังใช้ว่าวในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปมากมาย หนึ่งในวัตถุประสงค์ที่พบเจอได้บ่อยที่สุดก็คือการใช้ว่าวเพื่อประโยชน์ทางการทหารในช่วงทำสงครามนั่นเอง

การใช้ว่าวเพื่อทำสงครามในทวีปเอเชีย

ประเทศจีนในช่วง 202 ปีก่อนคริสตกาล B. Laufer ได้บันทึกลงไปในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า The Pre-History of Aviation ซึ่งเป็นหนังสือว่าด้วยการบินในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงราชวงศ์ฮั่น มีกองทหารของนายพลท่านหนึ่งได้ถูกต้อนจนจนมุม ทำได้เขาลองติดเชือก Aeolian ไว้กับว่าว ซึ่งเชือกนี้จะทำให้เกิดเสียงประหลาดขึ้นยามว่าวลอยขึ้นไปบนฟ้า ราวกับเป็นเสียงเตือนจากเทพเจ้า ทำให้ข้าศึกเกิดความหวาดกลัวและหนีไป

ประเทศอินเดียในช่วงปี ค.ศ.1659 จากการพรรณาของ Bill Thomas ในหนังสือที่มีชื่อว่า The Complete World Of Kites ว่าวมีบทบาทสำคัญในสงครามดินแดนระหว่างฮินดูและมุสลิม กษัตริย์ที่มีพระนามว่า Shivaji ใช้ว่าวเพื่อต่อแถวข้ามเหวใกล้ ๆ กับ Poona และจากนั้นภายใต้ความมืดยามค่ำคืน สายป่านได้ถูกเปลี่ยนเป็นเชือกเพื่อให้คนของกษัตริย์ Shivaji สามารถปีนขึ้นไปบนป้อมปราการของศัตรูและจัดการกับพวกทหารที่เฝ้ายามได้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

กองทัพของประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลีและรัสเซีย ต่างก็ใช้ว่าวเพื่อสอดแนมศัตรูฝ่ายตรงข้ามและทำการส่งสัญญาณให้พวกเดียวกันก่อนยุคที่เทคโนโลยีเครื่องบินจะมาทำให้ว่าวนั้นล้าสมัยไป กองทัพเรือเยอรมันก็ยังคงใช้ว่าวแบบกล่องในการยกทหารขึ้นไปเพื่อเพิ่มความสามารถในการมองเห็นระหว่างที่เดินเรือดำน้ำเหนือน้ำ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หน่วยงานด้านกองทัพเรือของรัฐบาลอังกฤษได้ริเริ่มการใช้ว่าวในการป้องกันแนวฝั่งจากการโจมตีฝั่งน่านน้ำ โดยว่าวที่ใช้จะเป็นว่าวกล่องคู่แบบ Hargrave ที่มีระเบิดผูกเอาไว้สำหรับช่วยขัดขวางการโจมตีของศัตรูทางอากาศ

แม้กระทั่งทางฝั่งอเมริกาก็มีการเปิดโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรสร้างแนวป้องกันศัตรูจากบอลลูนและว่าวในเมืองนิวยอร์ก หนึ่งในรูปแบบของว่าวที่มีชื่อเสียงในการทำลายลายศัตรูก็คือว่าวแบบ Saul’s barrage kites โดยว่าวนี้จะผูกกับสายป่านว่าวที่แข็งแรงมากและคมกริบ และสามารถจัดการกับเครื่องบินทิ้งระเบิดได้อย่างดีเยี่ยม

ในส่วนของประเทศเยอรมัน Dr. Henrich Focke ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเครื่องบิน ได้คิดค้นเครื่องบิน Focke-Achegelis F.A. 330 ซึ่งมีลักษณะเป็นว่าวที่มีปีกหมุนได้ หรือ ว่าว gyroplane มีความสามารถในการหลบหลีกสูงและลอยสูงขึ้นไปได้ด้วยการแรงลากของเรือดำน้ำ ว่าวนี้มีใบมีดหมุนได้ที่ช่วยในการสังเกตการณ์สูงขึ้นไปได้ถึง 50 ฟุตเหนือน้ำทะเล

ถึงแม้ว่าว่าวจะเคยมีบทบาทสำคัญในการทำสงครามทั่วโลก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าว่าวก็ยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างบันเทิงให้เราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันเมื่อสงครามสงบลง ว่าวกลับเข้ามาช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก ๆ และเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ในทั้งครอบครัวและระหว่างผองเพื่อนให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย

post

ทำว่าว DIY ง่าย ๆ ด้วยวัสดุรีไซเคิล

ว่าวเป็นของเล่นอย่างหนึ่งที่สนุก อีกทั้งยังเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กได้ตั้งแต่ขั้นตอนการประดิษฐ์ว่าวไปจนถึงตอนที่เค้านำว่าวที่เค้าทำเองกับมือออกไปเล่นที่นอกบ้านอย่างสนุกสนาน เราจึงได้นำวิธีการทำว่าว DIY ง่าย ๆ ด้วยวัสดุรีไซเคิลที่หาได้จากในชีวิตประจำวันมาแนะนำ เหมาะสำหรับเด็กหรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากใช้เวลาร่วมกับลูกและเสริมสร้างพัฒนาการของเขาให้ก้าวไปอีกขั้นอย่างมีประสิทธิภาพ เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้ว มาทำว่าวกันเถอะ!

  1. ว่าวจากหลอด

แค่นำหลอดดูดน้ำที่ไม่ใช่แล้ว นำมาทำเป็นโครงว่าว ยึดติดกันด้วยกาว จากนั้นก็ทาบลงไปบนกระดาษสาบาง ๆ ตัดกระดาษสาให้ตรงกับโครง จากนั้นก็ตกแต่งตามใจชอบ เพียงแค่นี้ก็จะได้ว่าวจากวัสดุรีไซเคิลที่เหมาะกับเด็กแล้ว

  1. ว่าวสีน้ำ

ใช้กระดาษ A4 ตัดเป็นรูปทรงว่าว จากนั้นก็ระบายสีน้ำลงบนกระดาษตามใจชอบ และเมื่อกระดาษแห้ง ให้เจาะรูตรงมุมด้านล่างขอบกระดาษ จากนั้นร้อยเชือกหนาเข้ากับรูที่เจาะก่อนที่จะนำโบว์ตกแต่งมาติดให้เป็นหางของว่าว

  1. ทำว่าวจากเส้นพาสต้า

เส้นพาสต้าก็นำมาทำเป็นว่าวได้เหมือนกันนะ โดยใช้เส้นพาสต้าแบบเส้นยาว (สปาเกตตี้) ทำเป็นโครงว่าว และใช้กระดาษตกแต่งทาบลงบนโครงและตัดให้เท่ากับโครง ก่อนจะใช้เชือกและพาสต้ารูปโบว์ (ฟาร์ฟาลเล) ตกแต่งทำเป็นหางว่าว

  1. ว่าวจากถุงกระดาษ

ถุงกระดาษแบบมีหูจับก็สามารถนำมาทำเป็นว่าวได้เช่นกัน โดยใช้อุปกรณ์เพียงแค่ถุงกระดาษแบบมีหูจับ เทปกาว สายป่านว่าว กระดาษสายรุ้งและปากกาเมจิกสำหรับตกแต่ง ในส่วนของวิธีการทำก็เริ่มจากตกแต่งถุงกระดาษตามใจชอบ ทำหางว่าวโดยใช้กระดาษสายรุ้งปิดที่ด้านล่างของถุงตามใจชอบ และใช้สายป่านว่าวผูกกับหูถุงกระดาษ เพียงแค่นี้ก็จะได้ว่าวจากวัสดุรีไซเคิลที่สวยไม่เหมือนใครแล้ว

  1. ว่าวกระจกสี เริ่มต้นจากการใช้ถุงพลาสติกสีขุ่น ตัดออกมาให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนกระดาษ จากนั้นใช้กระดาษสีดำในการขึ้นโครง และแปะลงไปในกระดาษลอกลาย เมื่อได้กระดาษที่มีลักษณะเป็นว่าวแล้ว ก็ใช้กระดาษสาสีสันต่าง ๆ ตัดเป็นรูปสีเหลี่ยม ติดลงไปในส่วนที่เป็นพลาสติกสีขุ่น ให้คล้ายกับเป็นลายของกระจกสี จากนั้นก็ตัดพลาสติกตามกระดาษสีดำที่เราขึ้นโครงเอาไว้ เพียงแค่นี้ก็ได้ว่าวสำหรับตกแต่งบ้านจากฝีมือเด็ก ๆ แล้ว

แน่นอนว่างานฝีมือทั้งหมดนี้มีบางชิ้นเท่านั้นที่สามารถทำให้ลอยขึ้นไปบนฟ้าได้จริง ๆ บางชิ้นอาจจะใช้ในการตกแต่งหรือเป็นงานฝีมือของคุณหนูเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่การประดิษฐ์ว่าวแบบ DIY เหล่านี้สามารถมีส่วนช่วยในการเพิ่มจินตนาการและสมาธิให้กับเด็กได้ เพราะงานฝีมือแต่ละชิ้น จะกลายเป็นความภาคภูมิใจของพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมครอบครัวสำหรับใช้เวลาร่วมกัน ที่จะช่วยเสริมสร้างความอบอุ่นในครอบครัวอีกด้วย

post

ศาสตร์และศิลป์สำหรับการเล่นว่าว เคล็ดลับที่ช่วยให้เล่นว่าวเก่งขึ้น

ถึงแม้ว่าใครหลายคนอาจจะมองว่าว่าวเป็นของเล่นที่เหมาะกับเด็ก แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็สามารถสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการเล่นว่าวได้เช่นกัน การเล่นว่าวไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีหลายสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เรามาดูกันดีกว่าว่าการเล่นว่าวให้สนุกและถูกวิธีตามหลักสากล มีอะไรบ้าง

เลือกอาวุธให้ถูกต้องเหมาะสม

รูปร่างของว่าวเหมาะสมกับความเร็วลมที่แตกต่างกันไป เช่น ว่าวที่มีรูปเพชรจะเหมาะกับสายลมที่มีความเร็วปานกลางและเหมาะสำหรับผู้ที่หัดเล่นว่าวใหม่ ๆ ในขณะที่ว่าวแบบกล่องจะเหมาะกับสายลมแรงและสายลมที่พัดอย่างสม่ำเสมอหรือผู้เล่นที่ค่อนข้างเชี่ยวชาญในการเล่นว่าวแล้ว และสำหรับว่าวแบบสามเหลี่ยม (Delta Kite) ก็เหมาะกับสายลมที่ชายหาด เหมาะกับมือใหม่เช่นเดียวกัน

การปล่อยให้ว่าวลอยขึ้นจากพื้น

นอกเหนือจากคนที่ต้องคอยคุมว่าวแล้ว การส่งว่าวให้ลอยขึ้นไปเหนือสายลมจะต้องมีเพื่อนที่คอยจับตัวว่าวเอาไว้หากสายลมที่มีความเร็วต่ำกว่า 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อช่วยส่งให้ว่าวลอยตัวอยู่เหนือกระแสลม (หรือสังเกตบริเวณที่มีใบไม้ลอยขึ้นจากพื้น) วิธีการที่จะช่วยให้ว่าวลอยตัวขึ้นไปเหนือกระแสลมอย่างถูกต้องก็คือ

  1. ค่อย ๆ ปล่อยสายป่านว่าวออกจากม้วนยาวประมาณ 12 เมตร โดยให้คนถือตัวว่าวเดินไปตามทิศทางลม
  2. คอยสังเกตสัญญาณที่ทำให้รู้ว่าสายลมพัดแรง เช่น ทรายที่ฟุ้งกระจาย ใบไม้ที่ดังกรอบแกรบ และวิ่งเข้าใส่สายลมทันที ขณะที่ให้เพื่อนปล่อยมือจากว่าว
  3. ห้ามปล่อยสายป่านว่าวออกมาเพิ่มจนกว่าว่าวจะสามารถลอยตัวนิ่ง สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เหนือกระแสลม

เลือกสถานที่ให้ถูกต้องและยืนให้ถูกที่

ควรเลือกสถานที่ที่เปิดโล่ง มีพื้นที่มากพอ เช่น สวนสาธารณะหรือชายหาดที่ไม่มีสิ่งกีดขวางเช่น สายไฟและตึกสูงอยู่ใกล้ ๆ เมื่อว่าวลอยขึ้นไปเหนือลมแล้วให้ยืนหันหน้าไปทางเดียวกับทิศทางลมและเดินถอยหลังระหว่างที่กำลังควบคุมสายป่านว่าว เพื่อจะได้มองเห็นว่าวได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เลือกสายป่านว่าวให้ยาว ยิ่งยาวยิ่งดี

ปกติแล้วสายป่านว่าวตามท้องตลาดจะมีความยาวประมาณ 37 เมตร แต่จริง ๆ แล้วหากเราต้องการจะเล่นว่าวอย่างจริงจัง สายป่านว่าวจะต้องมีความยาวถึง 300 เมตร ต้องไม่พันกันและต้องมีความเบายิ่งกว่าเชือกไนลอน (ความเบาของเชือกจะยิ่งมีผลเมื่อว่าวลอยสูงขึ้นไปบนฟ้า) ดังนั้นเราอาจจะจำเป็นต้องซื้อสายป่านว่าวเพิ่ม ที่นอกจากจะต้องยาวพอดีแล้ว ยังต้องมีความตึงที่เพียงพอ ไม่งั้นอาจจะทำให้ว่าวร่วงลงมาได้

เล่นว่าวให้ถูกต้อง

อย่าลืมคอยกระตุกสายป่านว่าวเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ว่าวสามารถคงตัวอยู่ในอากาศได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยทำให้ว่าวลอยสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อีกด้วย นอกจากนั้นสายป่านว่าวจะต้องตึงแต่พอดี ไม่หย่อนมากเกินไป ถ้าว่าวเริ่มร่วงลงมา ให้ดึงสายป่านว่าวกลับเข้าไปในแกนใหม่เล็กน้อย และค่อย ๆ กระตุกสายป่านว่าว ให้ว่าวลอยสูงขึ้นไปอีกครั้ง